“ธรรมาภิบาล: เงื่อนไขสำคัญของการปฎิรูป เปลี่ยนผ่านประเทศไทยสู่โลกที่หนึ่ง”

"ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี" จะนำพาประเทศไทยไปสู่ "ประเทศในโลกที่หนึ่ง" เป็นประเทศที่มีความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน สะท้อนผ่านการมี "Common Goals" ดังต่อไปนี้

– เป็นสังคมที่มีความหวัง (Hope)
– เป็นสังคมที่มีความสุข (Happiness)
– เป็นสังคมที่สมานฉันท์ (Harmony)

หัวใจสำคัญของการทำให้ "ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี" บรรลุผล นอกจากการมี "Common Goals" ดังกล่าวแล้ว ก็คือการสร้าง "Common Ground"

เป็น "Common Ground" ที่ทุกคนยินดีที่จะมายืนร่วมกัน เพื่อสานฝัน "Common Goals" ให้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องและเป็นรูปธรรม

ก่อน 22 พฤษภาคม 2554 สังคมไทยมีความขัดแย้งสูง ที่ผมเรียกว่า "สังคมสองขั้ว" (Bi-polar Society) ผมขอเรียนว่า Common Ground จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อเราสามารถสร้าง "สังคมที่ขับเคลื่อนด้วยธรรมาภิบาล" หรือ "Good Governance Society"

หากสังคมเราถูกขับเคลื่อนด้วยธรรมาภิบาล ทุกคนมีจิตสำนึกต่อ สิทธิ หน้าที่ และมีความรับผิดชอบ มอง "ส่วนรวม" มากกว่า "ส่วนตัว" ย่อมดีกว่าสังคมที่ถูกขับเคลื่อนด้วยกฎหมาย กฎระเบียบ และข้อบังคับที่เข้มข้นใช่ไหมครับ?

โดยทั่วไป หลักธรรมาภิบาล มีอยู่ 6 หลักด้วยกัน คือ

1. "หลักความรับผิดชอบ" โดยตระหนักถึงสิทธิ หน้าที่ การมีจิตสำนึก รับผิดชอบต่อสังคม การใส่ใจปัญหาของบ้านเมือง มีความกล้าหาญที่จะรับผิดชอบผลจากการกระทำ

2. "หลักคุณธรรม" คือ ยึดมั่นในความถูกต้อง ดีงาม ยึดหลักความซื่อสัตย์สุจริต ขยัน อดทน มีระเบียบวินัย

3. "หลักการมีส่วนร่วม" โดยเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมรับรู้ และร่วมตัดสินใจในการพัฒนาประเทศ

4. "หลักความคุ้มค่า" โดยการบริหารจัดการทรัพยากรที่มีอยู่จำกัด ให้มีการใช้อย่างประหยัดคุ้มค่า เกิดประโยชน์สูงสุด และสอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืน

5. "หลักความโปร่งใส" คือ เปิดเผยข้อมูลข่าวสารที่เป็นประโยชน์ให้สาธารณชนเข้าถึงได้สะดวก และมีส่วนร่วมตรวจสอบความถูกต้องในการดำเนินงาน

6. "หลักนิติธรรม" มีกฎกติกา ข้อบังคับต่าง ๆ ที่เป็นธรรม เป็นที่ยอมรับของสังคม

ประเด็นท้าทาย อยู่ที่การปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมและระบบคุณค่า โดยปลูกฝังให้เกิดธรรมาภิบาลในทุกระดับ ไล่ตั้งแต่ ธรรมาภิบาลระดับปัจเจกบุคคล ธรรมาภิบาลระดับครอบครัว ไปจนถึงธรรมาภิบาลใน 4 ภาคส่วนสำคัญ คือ

– ธรรมาภิบาลทางการเมือง 
(Political Governance)
– ธรรมาภิบาลการบริหารภาครัฐ 
(Bureaucratic Governance)
– ธรรมาภิบาลภาคธุรกิจ
(Corporate Governance)
– ธรรมาภิบาลภาคสังคม 
(Social Governance)

ให้เกิดขึ้นในสังคมไทย

ในขณะที่ กฎหมายเป็น “Rule-based” ธรรมาภิบาลจะเป็น “Norm–based” ซึ่งทั้งสองส่วนจะทำหน้าที่ที่เสริมซึ่งกันและกัน นำพาบ้านเมืองไปสู่ความเป็น "ปกติสุข"

ธรรมาภิบาลจะครอบคลุมถึงการที่แต่ละภาคส่วนปฏิบัติตามพันธกิจหน้าที่ของตนให้ดีที่สุด อย่างเต็มกำลังความสามารถ ให้เป็นไปตามความคาดหวังของสังคม ไม่ออกนอกลู่นอกทาง ไม่ดำเนินการในสิ่งที่ “ไม่ใช่” พันธกิจหน้าที่ความรับผิดชอบของตนเอง จนเกิดความระส่ำระสายของบ้านเมืองอย่างที่เป็นอยู่ ณ ขณะนี้ นั่นหมายถึง

● เป็นนักการเมืองที่ต่อสู้กันทางด้านอุดมการณ์ทางการเมือง มากกว่าการต่อสู้กันเพื่อยึดกุมอำนาจรัฐ เป็นการเมืองที่มาด้วยความชอบธรรม มีคุณธรรมจริยธรรม และใช้ความรู้ความสามารถชูธงประชาธิปไตย

(ไม่ใช่ตั้งหน้าตั้งตาเพื่อมาทำธุรกิจการเมือง ทุจริตคอร์รัปชัน เป็นธนาธิปไตยที่ซ่อนอยู่ในคราบประชาธิปไตย)

● เป็นข้าราชการมืออาชีพที่มีจิตใจรับใช้ประชาชน วางตัวเป็นกลางยึดคุณธรรมจริยธรรมเป็นเครื่องนำทางชีวิต

(ไม่ใช่รับใช้นักการเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องการแสวงหาอำนาจและการคอร์รัปชันในลักษณะพึ่งพิงอาศัยกับฝ่ายการเมือง)

● เป็นผู้ประกอบการที่ทำธุรกิจที่ตอบโจทย์ Doing Well และ Doing Good ไปพร้อมๆกัน Doing Well เพื่อตอบโจทย์ผู้ถือหุ้น Doing Good เพื่อตอบโจทย์สังคม

(ไม่ใช่ตั้งหน้าตั้งตากอบโกย สร้างคอนเนคชั่นกับนักการเมืองและข้าราชการ เพียงเพื่อแสวงหาผลประโยชน์ใส่ตนและพวกพ้อง)

● ฯลฯ

เมื่อใดก็ตาม…บ้านเมืองมีกฎกติกา แต่ละภาคส่วนมีธรรมาภิบาล ไม่ก้าวก่ายล้ำเส้นในภารกิจที่ไม่เกี่ยวข้อง และไม่ใช่ “ธุระไม่ใช่” หรือเพิกเฉยในภารกิจที่ต้องปฏิบัติ มีจิตสำนึกต่อส่วนรวม มีการบังคับใช้กฎหมาย ผู้คนปฏิบัติตามหน้าที่ตามครรลองคลองธรรม ผู้รับผิดชอบ

เมื่อนั้น… Clear, Fair, Care, Share ก็จะเกิดขึ้นเองในสังคมโดยไม่ต้องเรียกหา ความเป็นปกติสุขก็จะกลับคืนมา เมื่อความเป็นปกติสุขเกิดขึ้น ความมีเสถียรภาพทางการเมืองและทางเศรษฐกิจก็จะเกิดขึ้น ความมั่งคั่งก็จะตามมา

ในทำนองเดียวกับคุณธรรมจริยธรรม สังคมที่มีแต่ละภาคส่วนมีธรรมาภิบาลของตนเอง จะเสริมสร้าง “สังคมแห่งความเชื่อมั่น” หรือ “Society with Trust” ขึ้น กฎหมายอาจไม่ต้องเข้มมาก ระบบการตรวจสอบอาจไม่ต้องข้นมาก

ผิดกับสังคมที่คุณธรรมจริยธรรมเสื่อมทรามและธรรมาภิบาลอ่อนแอ เพื่อไม่ให้เกิดการล้มครืนลงของระบบ กลายเป็น “รัฐที่ล้มเหลว” สังคมนั้นต้องมีกฎหมายที่เข้มข้น และมีระบบการตรวจสอบที่เข้มงวดโดยปริยาย

การสร้างธรรมาภิบาลในทุกภาคส่วน จึงเป็นอีกหนึ่ง “การลงทุนทางสังคม” ที่คุ้มค่า ควรให้ความสำคัญอยู่ในลำดับต้น ๆ ครับ

ขอสนับสนุนท่านนายกรัฐมนตรี ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ประกาศเจตนารมย์อย่างแรงกล้า จะทำให้ "สังคมที่ขับเคลื่อนด้วยธรรมาภิบาล" เกิดขึ้นในสังคมไทยอย่างเป็นรูปธรรม

"Reform in Action" ที่มาถูกทิศถูกทาง กำลังจะเกิดขึ้น จากนี้เป็นต้นไปครับ!

 

ที่มา : www.facebook.com/drsuvitpage/posts/1398628070443919:0