ชู“ไทยแลนด์ สปริงอัพ” จุดเปลี่ยนประเทศ

ท่านประธานจัดงาน ท่านรัฐมนตรี แขกผู้มีเกียรติที่เคารพทุกท่าน  วันนี้เค้าเชิญให้ผมมาเป็นประธานสักขีพยาน แต่จริงๆแล้วผมมาเนี่ยต้องการที่จะมาขอบคุณทุกท่านที่เกี่ยวข้องในงานวันนี้นะครับ  จริง ๆแล้วเราควรจะตั้งชื่องานวันนี้ว่า “ไทยแลนด์ สปริงอัพ”  เพราะผมมีความรู้สึกว่าประเทศไทยนั้นเริ่มตื่นขึ้นมาแล้ว เริ่มสปริงตัวเองขึ้นมาแล้ว หลังจากที่เราหลับใหลมาค่อนข้างนาน วันนี้ผมเรียนตรง ๆเลยว่า ผมรู้สึกอุ่นใจนะครับ แล้วก็มองเห็นพลังสามัคคีของประเทศไทย มองไม่เห็นความขัดแย้ง อยากให้ภาพ ๆนี้กระจายไปทั่วประเทศไทย

ผมใช้เวลาหลายปีทีเดียวที่ได้เดินสายบอกเล่าแนวความคิดของการปฏิรูปเศรษฐกิจไทย การปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจ และพูดถึงวิธีการต่าง ๆในการที่จะยกระดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของเอสเอ็มอีในเรื่องของสตาร์ทอัพใช้เวลาไม่น้อยเลยทีเดียว 15 ปีที่แล้วผมพร้อมกับคณะเพื่อน ๆของผมได้จัดงานขึ้นมาครั้งแรกหลังจากที่มีวิกฤตเศรษฐกิจขึ้นมา เราประกาศว่าผู้ที่จะกอบกู้เศรษฐกิจประเทศไทยใหม่ให้ฟื้นจากวิกฤตเศรษฐกิจปี 40 ได้นั้นคือเอสเอ็มอี โลกของคนตัวเล็กแต่ในขณะนั้นนี่น้อยคนมากที่จะรู้ว่า “เอสเอ็มอี”นั้นคืออะไร และจากวันนั้นเป็นต้นมาจนถึงวันนี้ไม่น่าเชื่อนะครับ 15 ปีเนี่ยผ่านไปแล้ว แต่ว่าความเข้าใจในเรื่องของเอสเอ็มอีนั้นก็ยังไม่ถ่องแท้ จนกระทั่งการจัดงานในวันนี้ซึ่งผมรู้สึกว่าผมไม่เหงา เพราะผมอยู่ท่ามกลางกลุ่มคนซึ่งเริ่มเข้าใจและพร้อมที่จะมีพลังมาขับเคลื่อนการสร้างเอสเอ็มอีของไทยนั้นให้กลายเป็นนักรบเศรษฐกิจรุ่นใหม่ของประเทศในโลกข้างหน้า

ผมเชื่อว่าภารกิจดังกล่าวนี้จะประสบความสำเร็จอย่างแน่นอนเพราะว่าผมมีทีมเศรษฐกิจที่เข้าใจ ที่มีพลัง ผมมีผู้นำประเทศคือท่านนายกฯที่เอาจริงกับเรื่องนี้ ไม่เพียงเข้าใจแต่จะพยายามขับเคลื่อนการปฏิรูปเหล่านี้ ซึ่งท่านก็บอกหลายครั้งแล้วว่าสิ่งที่เรากำลังทำอยู่ขณะนี้นี่แหละคือการปฏิรูป การปฏิรูปไม่ใช่มานั่งประชุมแล้วปฏิรูป การปฏิรูปก็คือการขับเคลื่อนประเทศ ขับเคลื่อนมวลชนให้เข้าใจในสิ่งเดียวกัน เปลี่ยนแปลงไปในทางเดียวกันไปสู่ทิศทางที่ดีขึ้น และที่ทำให้มั่นใจอย่างยิ่งว่าภารกิจนี้จะเดินไปข้างหน้าอย่างไม่มีที่สิ้นสุดก็คือการที่มีพวกท่านที่มาร่วมในวันนี้ ผมพยายามปลุกล้อมมหาวิทยาลัยมานานมากเพราะมหาวิทยาลัยนั้นคือกำลังความคิดที่สำคัญ ไม่ใช่โลกของนักวิชาการ แต่จะต้องเป็นพลังขับเคลื่อนเป็นแกนนำในสังคม วันนี้ผมเห็นผู้นำมหาวิทยาลัยมาร่วมหลายท่านและผมเชื่อว่าท่านจะเป็นตัวแทนที่ดีมากของภาคประชาสังคม ที่จะมาช่วยกับภาครัฐ  ภาคเอกชน เพื่อนสานพลังประชารัฐนี้ให้เกิดการขับเคลื่อนแท้จริงในอนาคตข้างหน้า

คำว่า“เอสเอ็มอี”นั้นถูกเข้าใจไขว้เขวมานาน “เอสเอ็มอี”ในความหมายของคนไทยโดยทั่วไปนั้นเรามักจะคิดถึงบริษัทธุรกิจเล็ก ๆไม่ใหญ่นัก อ่อนแอไม่ค่อยมีสตางค์ ไปที่ไหนคนก็ไม่ค่อยให้ความสนใจ นายธนาคารก็ไม่ค่อยอยากจะให้เงินกู้เพราะไม่แน่ใจว่ากู้ไปแล้วจะมีปัญญาใช้คืนหรือไม่ ทางการเมืองก็ไม่ค่อยให้ความสนใจเพระว่ามองว่ารายเล็ก ๆไม่ค่อยมีความหมายเท่าไหร่ ไปให้ความนับถือความยกย่องให้เกียรติกับธุรกิจรายใหญ่ซึ่งอันนั้นเป็นเรื่องปกติแต่ว่าไม่ถูกต้องเท่าที่ควร  ผมถามคำนึงว่าบริษัทใหญ่ ๆ เพียงหยิบมือหนึ่ง จะสามารถสร้างจีดีพีขึ้นมาได้สักเท่าไหร่ในแต่ละปีบริษัทใหญ่ ๆจะสามารถสร้างงานได้สักไหร่ ในแต่ละปีบริษัทใหญ่ ๆ จะสามารถสร้างนวัตกรรมได้สักกี่ชิ้น ถ้าไม่มีรายย่อย ๆ ถ้าไม่มีมหาวิทยาลัย ถ้าไม่มีนักธุรกิจรุ่นใหม่ ๆเข้ามาช่วย

ฉะนั้นประเทศที่ภูมิใจกับการที่มีบริษัทยักษ์ใหญ่ไม่กี่บริษัทจะกลายเป็นประเทศที่ล้มเหลว และไม่สามารถพัฒนาได้ในที่สุด แต่ประเทศที่จะสามารถพัฒนาได้ ขับเคลื่อนไปข้างหน้าได้ สร้างงานสร้างอาชีพได้ สร้างอนาคตให้กับลูกหลานได้คือประเทศที่จะต้องเพียบพร้อมทั้งความคิด ความคิดใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้นทุก ๆวัน จะต้องมีผู้ที่แปลความคิดให้สามารถสร้างคุณค่าขึ้นมาให้ได้ในเชิงการค้า ซึ่งเราเรียกกันว่าผู้ประกอบการหรือพ่อค้า เราจะต้องพยายามเกื้อหนุนดูแลผู้ที่กล้าที่จะสร้างมูลค่ากับความคิดใหม่ ๆในจุดเริ่มต้น ซึ่งเขายังอ่อนแออยู่ ประคบประหงมเขาให้เขายืนหยัดขึ้นมาได้ ให้มีพลังในตัวของมันเองนั่นแหละเราเรียกว่า “สตาร์ทอัพ” แต่สตาร์ทอัพนั้นเค้ามีสิทธ์ที่จะเลือกว่าจะเป็นสตาร์ทอัพขนาดเล็ก หรือต้องการก้าวไปสู่การเป็นบริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่ นั่นก็คือเราจะต้องพยายามเกื้อหนุนว่าคนที่ต้องการเติบโตเป็นยักษ์ใหญ่นั้นเราก็ต้องพยายามสร้างเขาขึ้นมาให้เป็นยักษ์ใหญ่สามารถแข่งขันกับโลกได้

นโยบายในวันนี้ก็คือว่าเราจะต้องเริ่มจากจุดเริ่มต้นเลยว่า ทำยังไงประเทศไทยนั้นจะเป็นประเทศที่มีสังคมแห่งความคิดใหม่ ๆนั่นก็คือโรงเรียน มหาวิทยาลัยจะต้องเป็นจุดเริ่มต้น เมื่อวันก่อนทางกระทรวงศึกษาธิการได้จัดงานเรื่องของอาชีวะอันนั้นคือจุดเริ่มต้นจุดหนึ่งที่ว่า คนที่คิดจะเป็นช่างมีฝีมืออนาคตข้างหน้า เขาไม่จำเป็นที่จะต้องเป็นแรงงานตลอดไปตลอดชีวิต เขาสามารถเอาความคิดของเขานั้นมาสร้างคุณค่าให้มันเกิดขึ้นเป็นธุรกิจ  ในรั้วมหาวิทยาลัย 30 ปีที่แล้วสมัยผมเป็นนักศึกษาคิดอยู่อย่างเดียวว่าจบมาแล้ว ไม่รับราชการก็ไปเป็นลูกจ้างแต่สมัยนี้มันไม่จำเป็นเลย สมัยนี้ความคิดอ่านนั้นสามารถสร้างเป็นคุณค่าขึ้นมาได้ ฉะนั้นนโยบายวันนี้ก็คือว่าเราจะทำยังไงที่จะให้มหาวิทยาลัยในแต่ละมหาวิทยาลัย โรงเรียนแต่ละแห่งนั้น สามารถเป็นจุดเริ่มต้นในการบ่มเพาะความคิดที่จะสร้างคุณค่าให้แก่สังคมไทยเกิดขึ้นมาได้ ฉะนั้นในวันนี้เราจะเห็นเอสเอมอีแบงค์, สสว. เริ่มเข้าไปเจาะประตูตั้งแต่เรื่องของนักศึกษาที่ยังไม่จบเสียด้วยซ้ำไป ให้เริ่มคิดดูว่าหากเขาต้องการจะเป็นพ่อค้า ผู้ประกอบการเขาจะคิดทำอะไรบ้าง เขาจะทำยังไงและจากจุดนั้นเมื่อเขาต้องการทำธุรกิจ เราก็เริ่มมี “สตาร์ทอัพโพลิซี”ขึ้นมา ธนาคารหลายแห่งในขณะนี้เริ่มต้นแล้วภายในธนาคาร ด้วยความกรุณาของทางแบงค์ชาติ ทางกลต.ให้เขาสามารถที่จะช่วยกันและร่วมลงทุนบ่มเพาะให้แนวความคิดใหม่ ๆเหล่านี้เนี่ยสามารถกลายเป็นธุรกิจขึ้นมาได้ เอสเอมอีแบงค์ซึ่งแต่ไหนแต่ไรมาเน้นเฉพาะแค่เอสเอมอีที่อ่อนแอ

จากนี้ไปไม่ใช่ มันจะมีกระบวนการของการเริ่มต้นที่ว่าสตาร์ทอัพจะให้เค้าเกิดขึ้นมาได้ยังไง มหาวิทยาลัยหลาย ๆแห่งจะเริ่มสร้างสิ่งที่เราเรียกว่าอีโคซิสเท็มให้เด็กรุ่นใหม่นั้นมีโอกาสมาแลกเปลี่ยนความเห็นว่าจะทำธุรกิจกันยังไง ช่วยเหลือเกื้อกูลกันยังไง ซีอาเซียนแห่งนี้ก็เป็นตัวอย่างให้ดูว่าเขาเริ่มเอื้อเฟื้อสถานที่ให้เกิดสิ่งเหล่านี้ขึ้นมาในเดือนหน้าประมาณวันที่ 24-27 ผมให้กระทรวงที่เกี่ยวข้องร่วมกับเอกชนจัดงานยิ่งใหญ่ขึ้นมาอีกงานหนึ่ง โดยใช้ชื่อว่า“ไทยแลนด์สตาร์ทอัพ” ขึ้นมาต้องการปลุกให้ทั้งประเทศนี้ตื่นขึ้นมา ให้รู้ว่าในอนาคตข้างหน้า โครงสร้างเศรษฐกิจที่แท้จริงนั้นมันต้องเป็นโครงสร้างเศรษฐกิจที่ต้องการให้ทุกคนนั้น หากต้องการทำธุรกิจเขาต้องลุกขึ้นมาทำธุรกิจได้ไม่ต้องใหญ่แต่มีอาณาจักรของตัวเองหรือมีความคิดของตัวเอง มั่นใจในตัวเองสร้างงานขึ้นมาด้วยตัวเองแล้วไปแข่งขันกับโลก

งานนี้ทุกกระทรวงที่เกี่ยวข้องจะนำผู้ที่เป็นสตาร์ทอัพทั่วประเทศที่ไปกระจัดกระจายอยู่นั้น มารวมศูนย์พร้อมเชิญผู้เชี่ยวชาญต่างประเทศ กระทรวงการคลังจะจัดตั้งสิ่งที่เราเรียกว่า “เนชั่นแนลสตาร์ทอัพเซ็นเตอร์” เป็นศูนย์กลางที่จะระดมสตาร์ทอัพทั่วประเทศให้ขึ้นมาจดทะเบียน ให้รู้ว่าประเทศนี้มีสตาร์ทอัพอยู่เท่าไหร่ สาขาใดบ้างต้องการความช่วยเหลืออะไร นโยบายอะไรใหม่ ๆที่ต้องการให้มันเกิดขึ้น หากต้องการทุนอย่างน้อย ๆ 3 – 4 พันล้านบาทรวมกับเอสเอมอีแบงค์ ,ออมสินแห่งละ 3 พันล้านบาท อันนี้คือเงินกองทุนงวดแรกที่พร้อมที่จะเข้าไปเกื้อหนุนหากสตาร์ทอัพต้องการ มหาวิทยาลัยเรากำลังต้องการให้เค้าเปลี่ยนหลักสูตร ไม่ใช่แค่ผลิต MBA ป้อนธุรกิจรายใหญ่ ๆ แต่เราต้องการให้เริ่มเน้นเรื่องว่าการทำมาค้าขายนั้น ผมต้องทำอย่างไร ผมควรจะมีความรู้อะไรบ้าง ในเมื่อสตาร์ทอัพเหล่านี้เริ่มเกิดขึ้นมา เราต้องช่วยเขาทุกอย่างที่เขาต้องการ ถ้าเขาต้องการเงินทุนเราจะจัดหาบริษัทยักษ์ใหญ่ที่ต้องการเข้าไปช่วยเหลือไอรายเล็กเหล่านี้ ให้โตขึ้นมาเป็นเอสเอมอี เราจะมีสิ่งจูงใจว่าถ้าพี่ลงไปจูงน้องในทิศทางที่ถูกต้อง ไม่ไปกลืนกินเขาเรามีสิ่งจูงใจทางภาษีให้ องค์ประกอบเรื่องกฎหมาย กฎระเบียบไม่ว่ากลต., แบงค์ชาติ,กระทรวงการคลังเราจะปรับแก้กฎหมาย เพื่อให้ท่านยืนขึ้นมาได้ หากท่านต้องการเติบใหญ่ เราจะสร้างท่านจากเอสเอมอีกลายเป็นบริษัทขนาดใหญ่หรือขนาดยักษ์ แล้วแต่ศักยภาพของท่านรุกเข้าไปในตลาดโลก ใช้แนวความคิดอีคอมเมิร์สธุรกิจสมัยใหม่ ก้าวเข้าไปแข่งกับโลก ในโลกข้างหน้า

ฉะนั้นในอนาคตข้างหน้าท่านจะได้เห็นสตาร์ทอัพ และสตาร์ทอัพที่เริ่มกลายเป็น สมาร์ทเอ็นเตอร์ไพรส์หรือเอสเอมอีในทุกภาคส่วน ไม่ว่าอุตสาหกรรมภาคบริการ ภาคเกษตร ในไม่ช้าท่านจะได้พบกับ 1 ตำบล 1 เอสเอมอีเกษตรอุตสาหกรรม เราจะสร้างนักรบเกษตรรุ่นใหม่ขึ้นมา ไม่ใช่หลังสู้ฟ้าหน้าสู้ดิน แต่ว่าจะต้องเป็นเถ้าแก่น้อยขึ้นมาให้ได้หรืออาจจะเข้าสู่ครม.ภายในเวลา 2 สัปดาห์ข้างหน้า ไม่ว่าจะเรื่องของเทคโนโลยีเบท ,สตาร์ทอัพหรือเอสเอมอีจะเริ่มเกิดขึ้นมา ฉะนั้นตราบใดที่ผมดูแลเศรษฐกิจอยู่มีทีมเศรษฐกิจชุดนี้มีนายกฯท่านนี้อยู่ ท่านมั่นใจเลยว่าปีครึ่งที่ผ่านมานี้เกิดขึ้นแน่นอน ไม่ใช่ราคาคุยและใคร ๆที่ถามว่าปฏิรูปอะไร เปิดตาให้กว้าง ๆ แคะหูให้สว่าง ฟังที่พูดในวันนี้มองให้เห็น และรู้ว่านี่แหละคือการปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจไทย ให้เข้มแข็งก้าวทันโลกข้างหน้า

สิ่งเหล่านี้อย่างที่ท่านสุวิทย์ กล่าวมาเมื่อสักครู่นี้ มันไม่มีทางสำเร็จหรอก ถ้ามีแค่ ครม. แต่มันต้องอาศัยภาคเอกชน ภาควิชาการ ภาคประชาชน เราสร้าง 12 คอมมิตตี้ขึ้นมาเพื่อจับมือให้แน่นหนา แทนที่จะทะเลาะกัน แทนที่จะกินกันเอง ตัวใหญ่เอาเปรียบตัวเล็ก วันนี้ทุกคนยื่นมือมาคนละข้าง ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ท่านจะต้องเอาสื่อมวลชนเข้ามาร่วมด้วย สื่อมวลชนไม่ใช่จะยืนอยู่ข้างนอกคอยวิพากษ์วิจารณ์ ถ้าท่านรักประเทศจริงท่านต้องเดินเข้ามาร่วมกันสร้างประเทศนี้ขึ้นมา ไม่มีเวลาที่จะมานั่งทะเลาะเบาะแว้ง เมื่อวันก่อนรัฐมนตรีท่านหนึ่งมาเล่าให้ฟังว่าที่ประเทศเขมรเขาอยากให้นักลงทุนไทยไปลงทุนในประเทศของเขา เพราะเขามองว่าเมืองไทยเนี่ยทะเลาะกันอนาคตไม่มีหรอก ฉะนั้นนักธุรกิจไทยอยากไปลงทุนประเทศอื่น ท่านต้องพิสูจน์ให้เห็นว่า เมืองไทยนั้นเลิกทะเลาะกันแล้ว นักธุรกิจที่ยังไม่กล้าลงทุนเริ่มลงทุนได้แล้ว อย่าบอกแต่ว่ารักชาติแต่ปาก ต้องเข้ามาช่วยกัน วันนี้เศรษฐกิจโลกไม่ดีแต่มันถึงเวลาที่เราต้องบอกว่าเราไม่กลัวเศรษฐกิจโลก เพราะเราเตรียมตัวของเรามาเพียงพอแล้ว เรามีโครงการใหม่ ๆอยู่ในใจ เราต้องใช้ช่วงเวลานี้แหละ ช่วงที่เป็นวิกฤตนี้แหละเปลี่ยนวิกฤตเป็นโอกาส ปฏิรูปเมืองไทยซะ

ฉะนั้นจากวันนี้เป็นต้นไปท่านจะได้ยินคำว่า “พลังประชารัฐ” นี่ทุกจุดในเมืองไทย ผมกำลังจะขออาสาสมัครคนที่จะมาเป็นอาสาสมัครอาสาประชารัฐลงไปทำความเข้าใจ ไปอธิบายกับพี่น้องประชาชนให้รู้ว่าการปฏิรูปนั้นคืออะไร เราต้องร่วมแรงร่วมใจกันอย่างไร เปลี่ยนประเทศเสียใหม่เราจะไม่ทะเลาะกัน ไม่มีประโยชน์อะไรที่จะมาแบ่งสี ไม่ว่าภาครัฐ ประชาชน เอกชน นักการเมือง ทุกคนคือคนไทยทั้งนั้น  ฉะนั้นวันนี้ผมถึงบอกว่าวันนี้นี่แหละคือวัน “ไทยแลนด์สปริงอัพ” เราจะไม่หยุดอยู่แค่นี้นะครับ แล้วในท้ายนี้ผมอยากให้ท่านเมื่อท่านลงนามแล้ว ท่านต้องพิสูจน์อย่าให้เขาบอกว่านี่แค่ราคาคุย นี่แค่โชว์ไทม์เราไม่มีเวลาที่จะมาอยู่อย่างสบายๆ เวลาช่วงนี้เป็นเวลาที่ดีที่สุด ที่จะปฏิรูปประเทศของเรานะครับ ผมขอขอบพระคุณทุกท่านอีกครั้งหนึ่งที่มาร่วมงานในวันนี้ และพวกเราต้องร่วมกันเดินอีกยาวไกลนะครับ เดินไปข้างหน้า ผมเชื่อว่าเมืองไทยมีแต่อนาคตสุกใส ไม่มีแย่ไปกว่านี้อีกแล้วนะครับ ขอบคุณมากครับ สวัสดีครับ