ยิ่งกว่านั้นพี่น้องเหล่านี้อาศัยสินค้าทางการเกษตร ซึ่งเป็นสินค้าซึ่งมันขาดมูลค่า ขาดการแปรรูป ขาดการยกระดับ ขาดการบริหารจัดการที่ดี ยิ่งนานวันรายได้จากส่วนนี้ก็ยิ่งน้อยลง จีดีพีในภาคเกษตรหดตัวลงทุกวัน ยิ่งในระหลังยิ่งต่ำลงมันต่ำลงเพราะว่าราคาสินค้าเกษตรสมัยนี้มันไปผูกกับราคาน้ำมัน เมื่อราคาน้ำมันตกลงมาเหลือแค่ 30 เหรียญมันก็ทำให้ราคาข้าว ยาง และอื่น ๆตกลงมาเกินครึ่ง เกษตรกรซึ่งจนอยู่แล้วก็ยิ่งจนหนักขึ้น ฉะนั้นนโยบายรัฐบาลชุดนี้จึงต้องการกลับมาสร้างความเข้มแข็งให้เกิดขึ้นในเศรษฐกิจฐานราก ที่เมื่อสักครู่ท่านสุวพันธุ์ได้กล่าวมา คือจะทำอย่างไรให้พี่น้องเกษตรกร ชาวไร่ชาวนามีรายได้มากขึ้น เปลี่ยนตัวเองจากคนจนเป็นเกษตรกรที่เข้มแข็ง ยืนหยัดเท่าเทียมกับคนอื่นเขาได้
ฉะนั้นในช่วงแรกที่เข้ามาบริหารราชการแผ่นดินนั้น ผมได้หารือกับท่านนายกฯบอกว่าขณะนั้นชาวไร่ชาวนากำลังลำบากมาก เพราะราคาสินค้าตกต่ำ ขอให้ใช้กองทุนหมู่บ้านเป็นประโยชน์ขอให้สินเชื่อลงไปกับเขาเพื่อว่าเขาจะได้กู้ยืมไปพัฒนาตัวเขาเองให้ครอบครัวเขาสามารถยืนหยัดขึ้นมาได้ก่อน ทันทีที่ผมเรียนท่านนายกฯไป ท่านนายกฯไม่ได้ลังเลแม้แต่นิดเดียวเลย แม้ว่าชื่อของกองทุนหมู่บ้านนั้นในอดีตมักจะถูกมองไปว่าเป็นเครื่องมือทางการเมือง แต่ท่านนายกฯตัดสินใจบอกว่าให้เดินไปข้างหน้า ฉะนั้นสินเชื่อก้อนแรกที่ออกมาผ่านธ.ก.ส. ออมสินจำนวน 60,000 ล้านบาทมันจึงสามารถผ่านกองทุนหมู่บ้านเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา
จากจุดนั้นเป็นต้นมา บางคนก็มีความพยายามที่จะบิดเบือนบอกว่าเอาอีกแล้วจะสร้างหนี้ครัวเรือนอีกแล้ว จะทำให้เกษตรกรที่จนแล้วจนลงอีกหรือเปล่า ท่านทั้งหลายเป็นพยาน การมีสินเชื่อมาเพื่อเอาเงินเหล่านั้นไปประกอบอาชีพที่สุจริต สร้างรายได้มากขึ้นมาเลี้ยงครอบครัว ดีกว่าอดตาย ฉะนั้นนักวิชาการที่ไม่เข้าใจสิ่งเหล่านี้คิดเสียใหม่ มาดูเสียใหม่ว่าพี่น้องที่นั่งอยู่ในห้องนี้หมื่นกว่าคนนี่เขาละเลงเงินอย่างที่ท่านว่าหรือเปล่า มาฟังเขา มาดูบอร์ดที่อยู่ข้างหน้าแล้วค่อยตัดสินใจเกษตรกรเหล่านี้ จากจุดนั้นผมได้หารือกับท่านนายกฯว่าลำพังการให้แค่สินเชื่อเพื่อไปหล่อเลี้ยงชีวิตตนเองและครอบครัวนั้นไม่เพียงพอ มันไม่ยั่งยืน เพราะสิ่งที่ทำให้ชาวไร่ชาวนายากจนนั้นเพราะว่าเขาขาดโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็น เขาไม่มีลานตาก เขาไม่มีไซโล เขาไม่มีโรงอบ เขาไม่มีโรงงานแปรรูป เขาไม่มีโรงสี เขาไม่มีอะไรสักอย่างเลย พอผลิตสินค้าออกมาได้ไม่ว่าจะข้าว ยาง หรือว่ามัน ก็ต้องรีบขาย ออกมาผิดจังหวะ อุปทานมีเยอะกว่าอุปสงค์ ราคามันตกก็จำเป็นต้องรีบขาย สิ่งเหล่านี้ทำให้ไม่มีอำนาจต่อรองใด ๆทั้งสิ้น
เราคุ้นเคยกับคำว่าโครงสร้างพื้นฐาน แต่เราคุ้นเคยเพียงแค่ว่าโครงสร้างพื้นฐานนี้คือ ทางด่วน รถไฟ ถนน แต่ไม่เคยคิดว่าโครงสร้างพื้นฐานของชาวนาคืออะไร ผมเรียนทางนายกฯบอกว่าขอให้มีระลอกที่สองลงมาที่กองทุนหมู่บ้านแต่ว่าครั้งนี้ผมให้การบ้านกับกองทุนไปว่าหมู่บ้านจะต้องประชุมกันคุยกันไปเองว่าในหมู่บ้านของท่านต้องการอะไร อะไรที่จำเป็น เพราะบางครั้งทางการไม่รู้ ครั้งนี้ชุมชนสามารถเรียนรู้ด้วยตัวเองว่าเขาจะบริหารจัดการชุมชนเขาได้อย่างไร อะไรที่เขาขาด อะไรที่ต้องมี อะไรที่ต้องบริหาร อะไรที่ต้องแบ่งงาน เขาต้องเรียนรู้ด้วยตัวเอง เมื่อเขาเรียนรู้ได้ จัดการชุมชนได้ อนาคตข้างหน้าการเมืองจะเข้มแข็ง ประชาธิปไตยจึงจะเข้มแข็ง เพราะเขาจะรู้หน้าที่ของเขา เขาจะรู้ว่าในหมู่บ้านของเขานั้นควรสร้างตัวเองอย่างไร ควรสร้างอนาคตอย่างไร ไม่ใช่ทุกวันได้แต่พูดว่าประชาธิปไตยต้องมา แต่ไม่รู้สิทธิ ไม่รู้หน้าที่ ไม่รู้วิธีบริหารจัดการ แล้วมันจะเป็นประชาธิปไตยได้อย่างไร
แต่วันนี้การที่มีโครงการที่ว่านี้ลงไปโครงสร้างพื้นฐานให้ชาวบ้านคิดกันเอง บริหารจัดการกันเอง ทางการออกมาอยู่ข้างนอก สิ่งนี้จะทำให้มีประสบการณ์ มีการเรียนรู้ และมันจะเป็นก้าวแรกก้าวสำคัญสู่การเป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ ฉะนั้นทันทีที่เรียนท่านนายกฯไปไม่มีการชั่งใจ ไม่มีการลังเล หมู่บ้านละ 5 แสนก็สามารถผ่านครม.ออกมาได้ จริง ๆอยากให้มากกว่านั้นแต่ประเทศเรานั้นมันยากจน แล้วอีกอย่างหนึ่งเราต้องการทดลองว่าท่านจะทำได้ไหม จะเชื่อใจได้มั้ย ถ้าอย่างนั้นคนทำไม่ทันจะทำเลยจะถูกด่าซะก่อน ฉะนั้นเวลาผ่านไปเดือนครึ่ง วันนี้ท่านนายกฯจึงมาประกาศจุดเริ่มต้นงบโครงการลงทุนแห่งรัฐเพื่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานให้กับชนบทอย่างแท้จริง เพื่อให้เกิดการผลิต เพื่อยกระดับการผลิต เพื่อให้มีอำนาจต่อรอง เพื่อสร้างมูลค่าสินค้าของท่าน
มันยังไม่จบแค่นี้ คุณพ่อตั้งชื่อคำว่า “สมคิด” หน้าที่คือคิด แต่ไม่ได้คิดให้ตัวเอง ผมเกิดมาในครอบครัวที่ค่อนข้างจะยากจน ผมรู้ว่าความจนนั้นมันเป็นยังไง ผมมีพี่น้อง 10 คน มีคนได้เรียนหนังสือแค่ 2 คน และได้เรียนหนังสือเพราะว่าชิงทุนได้ทั้งสองคน ถ้าไม่ได้รับการศึกษา ถ้าไม่ได้เงินจากภาษีอากร วันนี้ไม่รู้อยู่ที่ไหน ฉะนั้นมีหน้าที่อย่างเดียวคือว่าเมื่อฟ้ากำหนดให้มาทำงานให้ท่าน ผมก็จะคิด วันอังคารที่ 23 ก.พ.ที่ผ่านมามีโครงการเข้าครม.อยู่ 2 โครงการ จะเน้นเรื่องของการปฏิรูปการเกษตรโดยเฉพาะ นำเสนอโดยธ.ก.ส.และเครือข่าย โครงการที่หนึ่งคือโครงการปรับเปลี่ยนโครงการการผลิตของเกษตรกรประเทศไทย เราอยู่ว่าสินค้าที่เราผลิตได้ นับวันมูลค่ามันจะตกลงไป ถ้าเรายังปลูกพืชอย่างเดียวในยามที่ราคามันดีท่านก็สะดวกสบายเหมือนทางใต้ของเราปลูกยางอย่างเดียวเป็นหลักใหญ่ เวลายางดีก็มีรายได้เป็นกอบเป็นกำ เห็นรถกะบะเป็นว่าเล่น แต่พอราคายางมันตกลงมา ก็ทำให้ชีวิตลำบากยากเข็ญ
ฉะนั้นสิ่งที่รัฐบาลต้องการก็คือว่าทำอย่างไรทุกท่านจะดำเนินงานตามที่ในหลวงท่านทรงตรัสไว้ ว่าให้ทำเกษตรผสมผสาน ปลูกพืชหลากหลายในสิ่งซึ่งสามารถหล่อเลี้ยงครอบครัวท่านได้ โครงการนี้นำเสนอโดยธ.ก.ส. โดยให้ชุมชนเป็นศูนย์กลาง ชุมชนในที่นี้หมายถึงกลุ่มลูกค้าธ.ก.ส. กลุ่มอาชีพ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนพูดง่าย ๆก็คือว่าไม่ใช่โครงการที่มุ่งไปสู่เกษตรกรเฉพาะราย แต่มุ่งไปที่ส่วนรวม ให้กระทรวงเกษตรฯ ให้พาณิชย์จังหวัด เกษตรจังหวัด หอการค้าจังหวัด ชี้เป้าว่าในแต่ละชุมชนนั้นมีพืชพันธุ์อะไรบ้างที่ควรจะปลูก นอกเหนือจากพืชที่ลงทุนแล้วเป็นประจำ นอกเหนือจากนั้นก็จะให้ชุมชนนี่แหละเป็นคนบริหารจัดการกันเอง สินเชื่อจากธ.ก.ส.จะยิงตรงไปที่ชุมชนให้ชุมชนคัดเลือกเกษตรกรที่สมัครใจเข้าร่วมโครงการ หมายความว่าโครงการนี้ไม่มีการบังคับกัน เกษตรกรคนไหนต้องการทำโครงการก็ไปร่วมกับชุมชน ในชุมชนนั้นจะเป็นคนคัดเลือกออกมา วงเงินทั้งหมด 15,000 ล้านบาทจะลงไปที่ชุมชน โครงจะเป็นโครงการเริ่มต้นนำร่องโดยใช้วิกฤตภัยแล้งเป็นโอกาส ในอาณาเขตของกลุ่มเกษตรกรที่อยู่ในลุ่มน้ำเจ้าพระยาและลุ่มน้ำแม่กลอง 26 จังหวัด มีเกษตรกรประมาณ 100,000 คน ชุมชนนั้นจะเป็นคนบอกว่าจะปลูกพืชอะไร ต้องเช่าที่ดินจัดสรรที่ดินให้มีการมาปลูกหรือไม่ ต้องมีการจ้างงานหรือไม่ จะซื้อปัจจัยการผลิตจากที่ไหน บริหารจัดการกันเอง ทางการรวมกับธ.ก.ส. ,กระทรวงพาณิชย์ หอการค้า ภาคเอกชนจะช่วยกันจัดหาตลาดเพื่อรองรับสินค้าที่ท่านปลูก เมื่อผลิตออกมาขายได้หักค่าใช้จ่ายชุมชนจะไปแบ่งปันกันเอง อันนี้คือโครงการนำร่องการปรับเปลี่ยนปฏิรูปการผลิตของเกษตรกรไทย
โครงการที่สอง ต้องการยกระดับกระบวนการผลิต การแปรรูป การเพิ่มมูลค่า การบริหารจัดการให้เป็นผู้ประกอบการ โครงการนี้ธ.ก.ส. ธนาคารออมสิน สสว. สันนิบาตสหกรณ์ ฯลฯ จะร่วมกันเพื่อสรรหาเกษตรกรต้นแบบในแต่ละตำบลขึ้นมา แล้วยิงสินเชื่อวงเงินประมาณ 60,000 -70,000 ล้าน ยิงตรงลงไปที่ชุมชนเหล่านั้น สร้างเครือข่ายสิ่งที่เราเรียกว่า SMEs เกษตรอุตสาหกรรม พูดง่าย ๆก็คือว่าจะมีการคัดเลือก คัดสรรเกษตรกรที่สามารถเป็นผู้ประกอบการในอนาคตได้ ให้เขาเป็นตัวแทนในการปรับปรุงกระบวนการผลิต มีการคิดนวัตกรรม มีการคิดเชิงสร้างสรรทางการตลาด ยกระดับสินค้าคุณภาพขึ้นมา แล้วทางการจะช่วยสนับสนุนเรื่องการให้ความรู้และการหาตลาด โครงการนี้เป็นโครงการที่สองที่เข้าครม.
อันนี้เป็นขั้นที่สองประมาณเดือนมีนาคม – เมษายนข้างหน้า สภาเกษตรกรทั้งประเทศจะคิกออฟโครงการปฏิรูปการเกษตรของสภาเกษตรกรแห่งประเทศไทย ทุกอย่างจะเดินไปข้างหน้าทีละขั้น เมื่อวานนี้ผมไปที่การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย เราจะนำการท่องเที่ยวเข้าไปสู่ชนบท เข้าไปสู่ตำบล ตรงนี้แหละเมื่อผลผลิตออกมาก็มีตลาดประชารัฐไปรองรับสินค้าของท่าน เมื่อนักท่องเที่ยวเข้าไปถึงตำบลมันก็จะทำให้เกิดการไหลเวียนทางเศรษฐกิจภายในชุมชน ภายในหมู่บ้าน อปท. อบต.และอบจ.เขาบอกผมว่าเขาอยากมาร่วมโครงการประชารัฐแต่ไม่รู้จะเข้ามาช่องทางไหน ผมได้หารือกับกระทรวงมหาดไทย ท่านนายกฯอนุญาตและเคาะโต๊ะแล้วว่าเงินสะสมของอปท.นั้นมีอยู่จำนวนหนึ่งจะจัดสรรให้เงินมาก้อนหนึ่ง เพื่อให้อปท.นั้นนำไปพัฒนาพื้นที่ ยกระดับความเป็นอยู่ของครัวเรือนไปยกระดับการท่องเที่ยวตำบล แล้วมาเสริมเครือข่ายประชารัฐ
ฉะนั้นวันนี้พวกเราจะได้เห็นแล้วว่าองคาพยพทุกอย่างที่เราเคยพูดเอาไว้ว่า 1.เราจะขับเคลื่อนในแนวดิ่งจากกระทรวงลงมาข้างล่าง มีกระทรวงมหาดไทย กระทรวงเกษตรฯ 2.เราจะขับเคลื่อนในแนวราบ โดยจะขับเคลื่อนเครือข่ายประชาชน อบต. อบจ. และเครือข่ายทั้งหลายในแนวระนาบ
วันนี้ทั้งนายกฯและผมดีใจที่เห็นสภาเกษตรกร สหกรณ์ ธ.ก.ส. อปท. หน่วยงานราชการทุกแห่ง ธนาคารของรัฐทุกแห่ง ภาคเอกชน มาร่วมมือซึ่งกันและกัน วันนี้เป็นวันประวัติศาสตร์จริง ๆไม่เคยมีในเมืองไทยที่ว่าทุกฝ่ายมาร่วมกันเพื่อมาช่วยพี่น้องเกษตรกร ช่วยทำให้ฐานรากมันแข็งแรง ทั้งหมดนี้เป็นการมาช่วยพวกท่านสร้างอนาคตให้พวกท่าน แต่พวกท่านเองต่างหากที่เป็นกลไกสำคัญที่สุดต้องพิสูจน์ตัวเองว่าเรานั้นยืนบนขาของเราได้ วันนี้ถึงบอกว่าผมมีความสุข แล้ววันนี้ท่านเห็นเสื้อของท่านเขียนว่าอะไร เขียนว่าอาสาประชารัฐ มันแปลว่าอะไร มันแปลว่างานใดก็แล้วแต่ที่ออกไปเราต้องมีอาสาสมัครที่ไปช่วยดู ไปช่วยแนะนำ ไปช่วยสั่งสอน นำข้อมูลต่าง ๆมาสู่ส่วนกลาง อาสาเหล่านี้มาจากไหน จุดเริ่มต้นคือมาจากพวกท่าน หมู่บ้านละ 2 คน 7 หมื่นกว่าหมู่บ้านเป็นแสนกว่าคน พอช.คือพัฒนาอบรมชุมชนซึ่งอยู่ใกล้ชิดกับพี่น้องในหมู่บ้านทั้งหลายจะกลายเป็นอาสาสมัครประชารัฐ อปท.ทั้งประเทศเราจะเอาเข้ามาในเครือข่ายประชารัฐ ฉะนั้นจากวันนี้ไปเครือข่ายประชารัฐจะกลายเป็นพลังของประชาชนที่เข้มแข็ง ร่วมมือกับรัฐบาล ร่วมมือกับเอกชน ร่วมมือกับภาคประชาสังคมมาขับเคลื่อนให้ประเทศนั้นเดินไปข้างหน้าให้ได้ ถ้าเรารวมพลังกันอย่างนี้ ไอ้การแยกสีแยกเหล่ามันจะไม่เกิดขึ้น ฉะนั้นวันนี้ผมกับท่านนายกฯมาในวันนี้นอกจากมาให้กำลังใจท่านแล้ว ยังฝากความหวังอยู่ที่พวกท่าน ฉะนั้นอย่าให้ความหวังของผมนั้นต้องผิดหวังเลยนะครับ ผมใช้เวลาพอสมควรแล้วผมจะบอกว่าจากนี้เป็นเพียงจุดเริ่มต้น มันจะตามมาอีกหลาย ๆระลอก ท่านพิสูจน์ตัวเอง ลบคำสบประมาทต้องให้รู้ว่าการขับเคลื่อนปฏิรูปที่แท้จริงนั้นไม่ใช่ขับเคลื่อบนโต๊ะ มันเป็นการขับเคลื่อนโดยประชาชน เป็นการขับเคลื่อนทางสังคม เพราะพลังที่แท้จริงมันอยุ่ที่ประชาชน ประเทศชาติถึงจะยืนอยู่ได้ ฉะนั้นขอให้ทำหน้าที่ของท่านให้ดีเพื่อว่าพวกผมจะได้มีกำลังใจทำให้พวกท่านต่อไป ขอบพรคุณมากครับ
ที่มา จากงานเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการและเปิดปฏิบัติการ “โครงการเพิ่มความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานรากตามแนวทางประชารัฐ” ณ อาคารชาเลนเจอร์ 2 ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี จ.นนทบุรี เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2559