เทงบกว่า 9 หมื่นล.หนุน “ประชารัฐ”เกษตร

นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง ออกมาเปิดเผยภายหลังการประชุมครม.ว่า ที่ประชุมได้อนุมัติมาตรการช่วยผู้สบประภัยแล้งและเพิ่มขีดความสามารถให้ภาคเกษตร ประกอบด้วย 3 เรื่องหลัก ประกอบด้วยมาตรการแรก เงินกู้ฉุกเฉินให้ลูกค้าธ.ก.ส.ที่ประสบปัญหาภัยแล้งให้กู้แต่ละรายไม่เกิน 12,000 บาทเพื่อบรรเทาเกษตรกรที่ประสบปัญหาจากภัยแล้ง รวมวงเงินทั้งสิ้น 6,000 ล้านบาท มาตรการที่ 2 คือ 1 ตำบล 1 เอสเอ็มอีเกษตร วงเงิน 72,000 ล้านบาท และโครงการสุดท้ายคือโครงการปรับเปลี่ยนการผลิตของเกษตรกร โดยลักษณะให้กลุ่มเกษตรกรรวมกันดูแลและปรับเปลี่ยนการเพาะปลูกพืช วงเงิน 15,000 ล้านบาท

ก่อนหน้านี้ในงานประชุมเชิงปฏิบัติการและเปิดปฏิบัติการโครงการเพิ่มความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานรากตามแนวทางประชารัฐ “ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี” ได้กล่าวไว้ในการปาฐกถาพิเศษเรื่อง “แนวทางพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากตามแนวทางประชารัฐ” โดยระบุว่าในการประชุมครม.วันที่ 23 ก.พ.นี้กระทรวงคลังจะเสนอโครงการที่เน้นการปฏิรูปภาคการเกษตรเป็นการปรับโครงสร้างการผลิตของเกษตรกรไทยโดยธ.ก.ส.จะเสนอปล่อยสินเชื่อให้กับเกษตรกรที่สมัครใจเข้าร่วมโครงการในวงเงินจำนวน 15,000 ล้านบาท

นอกจากนี้ยังจะมีโครงการยกระดับการผลิต , การแปรรูป, การเพิ่มมูลค่า, การบริหารจัดการของเกษตรกรเพื่อให้เป็นผู้ประกอบการโดยจะใช้วงเงินจำนวนทั้งสิ้น 60,000-70,000 ล้านบาท

             เรียกว่าเป็นมาตรการสำคัญที่ถูกจับตามองเป็นพิเศษ โดยเฉพาะการผุดมาตรการดังกล่าวออกมาในภาวะที่วิกฤติภัยแล้งกำลังลุกลามอย่างหนัก ภาคเกษตรกรถือเป็นภาคที่ได้รับผลกระทบโดยตรงอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง ดังนั้นมาตรการต่าง ๆที่ออกมาจึงถูกมองว่ามาได้ถูกจังหวะและโอกาส ดังนั้นที่ประชุมคณะรัฐมนตรีจึงได้มีมติเห็นชอบในมาตรการช่วยเหลือผู้ประสบปัญหาภัยแล้ง และมาตรการเพิ่มขีดความสามารถทางการเกษตรที่กระทรวงการคลังเป็นผู้เสนอ โดยรายละเอียดโครงการต่าง ๆมีดังนี้

โครงการสินเชื่อเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายฉุกเฉินและจำเป็นของเกษตรกรที่ประสบภัยแล้ง ปี 2558/2559 วงเงินรวมทั้งสิ้น 6,000 ล้านบาท โดยจะให้สินเชื่อไม่เกิน 12,000 บาทต่อราย กำหนดชำระคืนเงินกู้ไม่เกิน 12 เดือน คิดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 0 ต่อปีระยะเวลา 6 เดือนแรก จากนั้นตั้งแต่เดือนที่ 7 – 12 คิดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 4 ต่อปี ทั้งนี้สำหรับเกษตรกรลูกค้ารายย่อยของธ.ก.ส. ที่ปัจจุบันมีวงเงินกู้ต่อรายรวมกันไม่เกิน 500,000 บาท ซึ่งมีอยู่จำนวน 500,000 ราย ที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งทำให้ไม่สามารถทำการผลิตได้หรือผลผลิตได้รับความเสียหาย ทำให้มีรายได้ลดลงกว่าร้อยละ 50 จากรายได้ปกติ เพื่อใช้เป็นค่าใช้จ่ายในครัวเรือน พร้อมทั้งก่อให้เกิดการใช้จ่ายหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจและช่วยป้องกันการก่อหนี้สินนอกระบบของเกษตรกร

โครงการสินเชื่อ 1 ตำบล 1 SME เกษตรเพื่อสร้างความยั่งยืนของภาคเกษตรไทย วงเงินสินเชื่อรวมทั้งสิ้น 72,000 ล้านบาท เพื่อให้ผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ภาคการเกษตร ประกอบด้วยผู้ประกอบการรายคน วิสาหกิจชุมชน สหกรณ์การเกษตร หรือบริษัทชุมชน จำนวน 7,200 ราย เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มสินค้าเกษตร และกระตุ้นให้เกิดการจ้างงาน (ประมาณการจ้างงานได้ 5 – 30 คนต่อกิจการ) โดยธ.ก.ส. กำหนดให้สินเชื่อระยะเวลาเงินกู้ไม่เกิน 10 ปี ในอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 4 ต่อปี เป็นเวลาไม่เกิน 7 ปี และปีที่ 8 – 10 จะคิดอัตราดอกเบี้ยปกติตามชั้นลูกค้า ทั้งนี้วงเงินกู้ไม่เกิน 20 ล้านบาทต่อราย

                และ โครงการชุมชนปรับเปลี่ยนการผลิตสู้วิกฤติภัยแล้ง วงเงินสินเชื่อรวมทั้งสิ้น 15,000 ล้านบาท สำหรับเกษตรกรในพื้นที่ประสบวิกฤติภัยแล้งในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา และพื้นที่ลุ่มแม่น้ำแม่กลอง จำนวน 26 จังหวัด จำนวน 100,000 ราย ที่มีความสมัครใจและตั้งใจในการปรับเปลี่ยนโครงสร้างการผลิตอย่างแท้จริงและผ่านการคัดเลือกจากชุมชน (ชุมชนได้แก่ กลุ่มลูกค้า ธ.ก.ส. กลุ่มอาชีพ หรือวิสาหกิจชุมชนที่มีศักยภาพและอยู่ในพื้นที่ประสบวิกฤติภัยแล้งในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา และพื้นที่ลุ่มแม่น้ำแม่กลอง จำนวน 26 จังหวัด) ใช้เป็นค่าเช่าที่ดิน ค่าปัจจัยการผลิต และค่าจ้างแรงงานให้กับเกษตรกร โดยกำหนดวงเงินกู้กลุ่มละไม่เกิน 3 ล้านบาท คิดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 0.01 ต่อปี กำหนดชำระการคืนเงินกู้ไม่เกิน 12 เดือน

                และนี่อาจเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญสำหรับภาคการเกษตรไทย ภายใต้แนวทางประชารัฐบนแนวคิด  ปฏิรูปภาคการเกษตรเป็นการปรับโครงสร้างการผลิต บรรเทาความเดือดร้อน สร้างงาน สร้างรายได้ให้กับชุมชนทั่วไทย ให้มั่งคั่ง แข็งแกร่ง และยั่งยืน