“สมคิด” ชี้ CLMVT พลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจเอเชีย

ดร.สมคิดกล่าวว่า ปัจจุบันนี้ภูมิรัฐศาสตร์ของโลกเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากที่ โดนัลด์ ทรัมป์ ได้ขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีสหรัฐในช่วงต้นปีที่ผ่านมา ได้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อนโยบายเศรษฐกิจโลกครั้งใหญ่ ในอดีตโลกถูกจัดระเบียบโดยองค์การการค้าโลก (ดับเบิลยูทีโอ) ที่ดำเนินการโดยประเทศขนาดใหญ่ กำหนดกลไกการค้าขาย การเปิดตลาดเสรีลดภาษีนำเข้า ลดอุปสรรคการลงทุนต่างๆ ให้หมดไป เป็นเวทีที่ยุโรป และสหรัฐ สร้างแรงกดดันกับประเทศกำลังพัฒนาที่จำเป็นจะต้องเก็บภาษีเพื่อดูแลประชาชนในประเทศ

          “การค้าเสรีกลับสร้างประโยชน์ให้เกิดเฉพาะกับบริษัทยักษ์ใหญ่เพียงไม่กี่ราย ขาดการกระจายรายได้ไปยังรายย่อยและประชาชน จึงเกิดกระแสต่อต้านการค้าเสรีขึ้นมา" สมคิดกล่าว และชี้ให้เห็นว่า สหรัฐจึงเปลี่ยนนโยบายล้มเขตการค้าเสรี โดยการยกเลิกความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก(ทีพีพี) และเจรจาเขตการค้าเสรี (เอฟทีเอ) กรอบต่าง ๆ เพราะมองว่าเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้แรงงานสหรัฐตกงาน ซึ่งนโยบายของทรัมป์ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงโลกจากเดิมที่ทำมานานกว่า 30-40 ปี เกิดรูปแบบการค้าขายใหม่ ดังนั้นไทยจะต้องปรับตัวตามให้ทัน

          ภายใต้ความไม่แน่นอนทำให้มุมมองต่อเศรษฐกิจโลกเปลี่ยนไป ทำให้ทั่วโลกต่างหันมามองที่เอเชียมากขึ้น โดยเฉพาะจีน ที่ก้าวขึ้นมาเป็นผู้ผลิตชั้นนำของโลก และเป็นผู้นำชูการค้าเสรี ส่วนญี่ปุ่นมีการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้น ขณะที่อาเซียนก็มีอัตราการเติบโตอย่างมาก 7-8 % ต่อปี ทำให้เอเชียจะก้าวขึ้นมาผลักดันเศรษฐกิจโลกและความมั่นคงก็มาอยู่ที่เอเชีย ซึ่งจะเป็นตัวหล่อเลี้ยงเศรษฐกิจโลกในอนาคตข้างหน้า ซึ่งกรอบความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (อาร์เซ็ป) จะมาแทนที่ทีพีพีเพราะเป็นข้อตกลงทางการค้าที่มีขนาดของตลาดเกือบครึ่งหนึ่งของโลก มีทั้งทรัพยากรและเทคโนโลยีที่ครบถ้วน

          อาร์เซ็ป ถือเป็นเครื่องจักรหลัก คืออาเซียน 10 ประเทศ ที่จะมีบทบาทที่สำคัญในการเป็นตัวเชื่อมกับอีก 6 ประเทศให้เกิดเขตการค้าเสรีที่ เข้มแข็งได้ ซึ่งหากอาเซียนมีความเข้มแข็งก็จะสามารถแข่งขันทางการค้าทั้งกับจีน และสหรัฐได้ แต่หากอาเซียนไม่เข้มแข็งแบ่งแยก ก็จะถูกบังคับให้แต่ละประเทศต้องเลือกฝ่ายอยู่ภายใต้การชี้นำของประเทศมหาอำนาจ และขาดพลังในการต่อรอง

          อาเซียนก็มีแกนหลักที่สำคัญก็คือ กัมพูชา ลาว เมียนมาร์ เวียดนาม และไทย (ซีแอลเอ็มวีที) ที่จะเป็นตัวเชื่อมที่สำคัญกับนโยบาย "One Belt One Road" ของจีน ซึ่งประเทศยักษ์ใหญ่ต่างรู้ว่าซีแอลเอ็มวีที ไม่เพียงแต่จะมีความสำคัญ แต่ต่อไปข้างหน้าจะมีบทบาทอย่างมากในการเป็นแก่นรวมเศรษฐกิจในบริเวณนี้ ทำให้ต่างชาติจับจ้องที่จะเข้ามาลงทุนค้าขายในซีแอลเอ็มวีที

          “หากซีแอลเอ็มวีทีรวมตัวกันติด ก็จะเป็นผู้ประสานความเข้าใจระหว่างจีน อินเดีย เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น ให้เข้ามาร่วมกับอาเซียนอย่างแน่นแฟ้น” อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่าขณะนี้อาเซียนยังไม่ได้รวมกลุ่มกันหนึ่งเดียว ทำให้แต่ละประเทศมีขนาดเศรษฐกิจที่เล็กไปในการเข้ามาลงทุน ดังนั้น จึงต้องรวมเป็นหนึ่งเดียวรองรับการลงทุนตั้งฐานการผลิตสินค้าเข้าไปขายในซีแอลเอ็มวีที และอาเซียน รวมทั้งเชื่อมต่อไปยังเอเชียใต้ ตะวันออกกลาง โดยใช้จุดแข็งของอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่สูง 7-8% ต่อปี  ซึ่งสูงที่สุดในโลก มีประชากรกว่า 260 ล้านคน และมีกลุ่มคนชั้นกลางที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

          ที่ผ่านมาไทยส่งออกไปยังอาเซียน 25% และในจำนวนนี้มีถึง 10% ที่ส่งไปยังซีแอลเอ็มวี เท่าๆ กับการส่งออกไปยังสหรัฐ และญี่ปุ่น ทำให้ซีแอลเอ็มวีทีมีความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ  และในอนาคตจะเกิดการลงทุนระหว่างประเทศในกลุ่มนี้มากขึ้น เพราะแต่ละประเทศมีกำลังการผลิตเกินกว่าตลาดภายในประเทศจะรองรับได้ เช่น พม่าอาจจะเข้ามาร่วมลงทุนกับนักธุรกิจไทย เพื่อขยายตลาดทั้ง 2 ประเทศอย่างวิน-วินทุกฝ่ายสมคิดระบุว่า รัฐบาลชุดนี้มียุทธศาสตร์และนโยบายหลักที่ชัดเจนว่าจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง  แต่ละประเทศต้องเลิกคิดแบบเดิมว่าจะต้องแข่งขันกัน เพราะหากทุกประเทศเติบโตไปด้วยกันพึ่งพากันและกัน ก็จะทำให้แต่ละประเทศมีเศรษฐกิจที่เติบโต ส่งผลให้ยอดส่งออกระหว่างกันสูงขึ้นไปด้วย เห็นได้จากยอดการส่งออกของไทยยังกลุ่มประเทศนี้ที่มีสัดส่วนถึงกว่า 10% ซึ่งจะเป็นแนวทางการพัฒนาที่เพิ่มความแน่นแฟ้นและความเป็นปึกแผ่น

          การที่จะเกิดความเป็นปึกแผ่นได้นั้น  การเชื่อมโยงเปิดประตูการค้าภายในกลุ่มเป็นเรื่องที่สำคัญ จะต้องมีการเปิดจุดผ่านแดน จุดเชื่อมต่อการขนส่ง พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งร่วมกัน รวมทั้งเชื่อมโยงไปสู่ภูมิภาคอื่น เช่น จีน ญี่ปุ่น ซึ่งไทยในฐานะที่มีความเชี่ยวชาญ มีความรู้สูงกว่า ก็จะต้องเข้าไปช่วยเหลือประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะในเรื่องดิจิทัล และอีคอมเมิร์ซ ซึ่งผลจากการเชื่อมโยงการค้าที่จะเห็นได้เร็วที่สุด ก็คือการยกระดับฐานะของประชาชนตามแนวชายแดนที่ยังยากจนอยู่

          นอกจากนี้กระทรวงการต่างประเทศ จะต้องปรับบทบาทจากเดิมที่มีเพียงการประชุมร่วมกันระหว่างผู้บริหารหน่วยราชการ ไปเป็นการวางยุทธศาสตร์แต่ละด้านร่วมกันในกลุ่มซีแอลเอ็มวีที

          “ต่อจากนี้จะไม่ใช่แค่คุยในเรื่องจะเพิ่มยอดส่งออกอย่างไร แต่กระทรวงการต่างประเทศจะต้องสร้างยุทธศาสตร์ความร่วมมือในด้านต่างๆ ของ ซีแอลเอ็มวีที และอาเซียน รวมทั้งคัดเลือกนักลงทุนที่มีคุณภาพให้ออกไปลงทุน ไม่ใช่แต่โรดโชว์ หรือเซ็นเอ็มโอยูเพียงอย่างเดียว สิ่งเหล่านี้จะเป็นเรื่องสำคัญในเวทีการเมืองระหว่างประเทศในอนาคต”

          ทั้งนี้ที่สำคัญจะทำให้เศรษฐกิจก้าวหน้าได้ จะต้องลืมอดีตความขัดแย้งที่ผ่านมา และเดินไปข้างหน้าร่วมกัน ลืมการเป็นคู่แข่งและสร้างความร่วมมือระหว่างกัน ซึ่งขณะนี้ผู้นำในซีแอลเอ็มวีทีมีความสนิทสนมกันมาก จึงเป็นจังหวะที่เหมาะสมที่สุดในการรวมกลุ่มซีแอลเอ็มวีทีให้เข้มแข็งมียุทธศาสตร์การพัฒนาร่วมกัน แม้จะเป็นเรื่องที่ไม่ง่าย แต่ก็ไม่ยากเกินไปที่จะทำ

          ดร.สมคิด ยังระบุว่าในขณะนี้ไทยยังพึ่งพาการส่งออกมากเกินไป เนื่องจากกำลังซื้อภายในประเทศไม่มีศักยภาพเพียงพอในการรองรับสินค้าที่ผลิตได้ การที่จะทำให้ประเทศเติบโตมั่นคงแข็งแรง จะต้องไม่ดูเพียงแค่การส่งออกเพิ่มขึ้นเพียงอย่างเดียว แต่จะต้องปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจไทยให้สอดรับกับสิ่งใหม่ๆ ที่เกิดขึ้น สร้างมูลค่าให้แก่สินค้าต่างๆ แก้ไขปัญหากฎระเบียบในการส่งออกต่างๆ ให้ง่ายขึ้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นความท้าทายอย่างยิ่ง หลายภาคส่วนต้องร่วมมือกันดำเนินการในยุคของรัฐบาลชุดนี้ ซึ่งเป็นยุคที่รัฐบาลเอาจริงเอาจังกับการปฏิรูป

p.p1 {margin: 0.0px 0.0px 10.0px 0.0px; text-align: justify; font: 16.0px ‘Angsana New’; -webkit-text-stroke: #000000}
span.s1 {font-kerning: none}
span.Apple-tab-span {white-space:pre}

           “ที่ผ่านมารัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งมองแต่นโยบายระยะสั้นเพื่อได้ผลทางการเมือง ไม่มีการวางแผนระยะยาว ดังนั้นรัฐบาลนี้จึงมุ่งวางแผนระยะยาวของประเทศชาติเป็นสำคัญ ซึ่งการปฏิรูปเหล่านี้จะไม่เห็นผลเร็ว แต่จะเห็นผลในอีก 3-4 ปีข้างหน้า ที่สำคัญจะทำให้เศรษฐกิจ 5 ประเทศก้าวหน้าได้ จะต้องลืมอดีตความขัดแย้งที่ผ่านมา และเดินไปข้างหน้าร่วมกัน ลืมการเป็นคู่แข่ง และสร้างความร่วมมือระหว่างกัน"