ดร. สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ เปิดเผยภายหลังประชุมโครงการ New S – Curve ว่า ได้มอบหมายให้จัดตั้งคณะทำงานขับเคลื่อนการลงทุนของอุตสาหกรรมใหม่ โดยมี ดร. อรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธานเพื่อการทำงานเชิงรุก โดยแบ่ง 4 กลุ่มใหญ่ประกอบด้วย 1. กลุ่มอุตสาหกรรมเกษตร ทั้งเกษตรชั้นสูง ไบโอและชีวภาพ 2. กลุ่มดิจิตอล 3. อุตสาหกรรมไฮเทค 4. อีโคโนมิค เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ ที่มีการเติบโตที่สูงมากรวมทั้งขอความร่วมมือผู้ประกอบการด้านอุตสาหกรรมที่มีความสัมพันธ์กับนักลงทุนต่างชาติเข้าร่วมทำงานด้วย
นอกจากนี้ยังได้มอบหมายให้บีโอไอจัดตั้ง Marketing Team เพื่อศึกษาความต้องการของนักลงทุน โดยจะมีการจัดโรดโชว์เพื่อพบนักลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย โดยตนจะเดินทางไปร่วมเจรจาร่วมกับนักลงทุนไทย รวมทั้งให้ทุกหน่วยงานศึกษากลุ่มอุตสาหกรรมในแต่ละประเทศอย่างครบถ้วนก่อนการเดินทาง เพื่อเจรจาให้ได้ผล โดยจะมีความเข้มข้นมากขึ้น ซึ่งจะเป็นการทำงานแนวรุกให้เร็วและในอนาคตอาจมีการขยายมากกว่า 4 กลุ่มนี้
ขณะเดียวกันได้มอบหมายให้การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) และผู้ประกอบการนิคมอุตสาหกรรมมองหาพื้นใหม่รองรับการลงทุนรวมทั้งเมื่อนักลงทุนเข้ามาลงทุนในไทย จะต้องมีพื้นที่พร้อมรองรับการลงทุนใหม่ ทั้งในส่วนของพื้นที่ตั้งโรงงานอุตสาหกรรม และโครงสร้างพื้นฐาน (infrastructure) รวมทั้งกลุ่มคลัสเตอร์อุตสาหกรรมเชื่อมโยงการผลิต โดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดระยอง ชลบุรี และฉะเชิงเทรา พัฒนาให้เป็นพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ
ดร.สมคิดยังได้กล่าวต่อว่าประเทศไทยยังมีกลุ่มอุตสาหกรรมปิโตรเคมีที่เป็นจุดแข็ง เนื่องจากอุตสาหกรรมสมัยใหม่มีความต้องการต่อยอดผลิตภัณฑ์ ที่มีส่วนประกอบสำคัญจากปิโตรเคมีเพื่อสร้างวัสดุอุปกรณ์สมัยใหม่ที่ ดังนั้นประเทศที่ไม่มีปิโตรเคมีต่อยอดอุตสาหกรรมเหล่านี้ยาก แต่เราต้องรุกเร็วมากขึ้น รวมทั้งขณะนี้ถือเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมในการชัดจูงนักลงทุน เนื่องจากเรากำลังปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ รวมทั้งขณะนี้ทุกประเทศมีอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำ หลายประเทศพร้อมที่จะลงทุน เป็นโอกาสที่เราจะออกไปดึงดูดนักลงทุนเข้ามาในประเทศ
จากการเดินทางไปในประเทศประเทศ พบว่านานาประเทศมองว่า ประเทศไทยเป็น Gateway ของอาเซียน แต่เราต้องออกไปชักจูงนักลงทุน และต้องเร็ว และเรายังมองด้วยว่า กลุ่มเทเลคอม ดิจิตอล กำลังเติบโต โดยเราได้มอบหมายให้ทำงานเชิงรุกทั้งสิ้น นอกจากนี้จากการเดินทางไปพบนักลงทุนในประเทศรัสเซีย มีนักลงทุน 3- 4 รายพร้อมที่สนใจเข้ามาลงทุนในประเทศไทย แต่ไม่รู้ว่าจะจับคู่ Partner อย่างไร โดยได้มอบหมายให้คณะทำงานฯ จัดทำบัญชีคู่ค้าแยกเป็นประเภทกลุ่มอุตสาหกรรม
ขณะที่นายกานต์ ตระกูลฮุน อดีตกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทเอสซีจี กล่าวว่า นักลงทุนหลายประเทศยังคงสนใจเข้ามาลงทุนในประเทศไทย โดยเฉพาะในเรื่องของปิโตรเคมีที่เราได้เปรียบประเทศอื่นๆ เนื่องจากเรามีต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ที่ตอบโจทย์การลงทุน และแม้ค่าแรงขั้นต่ำของไทยจะสูงกว่าประเทศอื่นในภูมิภาค แต่ก็มีต้นทุนอื่น ๆที่ถูกกว่า รวมทั้งเชื่อมั่นว่านักลงทุนญี่ปุ่นยังคงเชื่อมั่นในการเพิ่มเม็ดเงินลงทุนในไทย
ด้าน ดร. อรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า คณะทำงานฯจะเร่งหารือทำแผนการตลาดเชิงรุกเพื่อนำเสนอต่อ ดร.สมคิดภายใน 1 – 2 วัน