ดร.สมคิด เป็นประธานในพิธีเปิดงาน Thailand Industry Expo 2015

                วันนี้ผมได้รับมอบหมายจากพณท่านนายกรัฐมนตรีให้มาเป็นตัวแทนของท่านมามอบรางวัลในวันนี้ ท่านฝากขออภัยทุกท่านที่ไม่อาจมาด้วยตัวเอง เพราะท่านไม่ค่อยสบายและอยู่ในช่วงของการพักฟื้นซึ่งคืนนี้ท่านต้องเดินทางไปประชุมที่ UN แต่อย่างไรก็ดีก่อนจะมาหาพวกท่านในวันนี้ผมก็ได้เรียนพบท่านเพื่อรับนโยบายว่าจะทำอะไรในช่วงที่ท่านไม่อยู่ ท่านก็ฝากผมให้มาให้กำลังใจกับพวกท่าน ขอแสดงความยินดีกับผู้ที่ได้รับรางวัล และก็ให้กำลังใจถึงแม้ผู้ที่ไม่ได้รับรางวัลก็อยากให้เพียรพยายามต่อไป เพื่อให้อุตสาหกรรมไทยสามารถก้าวไกลในอนาคตข้างหน้า เมื่อสักครู่ผมได้ชมวิดีโอทัศน์  ไม่น่าเชื่อเลยว่าอุตสาหกรรมไทยจะสามารถก้าวไกลมาได้ถึงจุดนี้ได้ ถ้าเรามองย้อนกลับไปจริงๆ แล้วภาคอุตสาหกรรมไทยเนี่ยมันเริ่มขึ้นมาจริงๆ อยู่ในช่วงปลายของแผนพัฒนาเศรษฐกิจฉบับที่ 2  ต่อฉบับที่ 3 จากนั้นก็เริ่มมาสู่ฉบับที่ 4 ในช่วงปลาย 2-3 นั้น เป็นช่วงที่พัฒนาอุตสาหกรรมเพื่อทดแทนการนำเข้า ซึ่งก่อนหน้านี้ถ้าเรายังจำกันได้ เราจะพูดถึงแค่ว่าประเทศไทยเรานั้นเป็นประเทศเกษตรกรรม สินค้าส่งออกส่วนใหญ่ก็คือ ข้าว ยางพารา ดีบุก เหล่านี้เป็นต้น แต่ว่าช่วงแผนพัฒนา 2 , 3 ถึง 4 เป็นต้นมา เราก็เริ่มสามารถสร้างอุตสาหกรรมขึ้นมาได้เป็นหลักฐานที่มั่นคง ช่วงเวลาที่ผ่านมาจนถึงทุกวันนี้ภาคอุตสาหกรรมเป็นภาคที่มีความสำคัญยิ่งใหญ่มากในเศรษฐกิจไทย ในวันนี้ผลผลิตโดยรวมของอุตสาหกรรมนั้นคิดเป็นประมาณร้อยละเกือบ 40 ของผลผลิตโดยรวมประชาชาติทั้งสิ้นของประเทศไทย

ฉะนั้นอาจจะกล่าวได้ว่าอุตสาหกรรมนั้นเป็นภาคที่สร้างประเทศนี้ขึ้นมา เป็นภาคที่สร้างการจ้างงานและก็สร้างอนาคตให้กับคนไทยอย่างแท้จริงภาคหนึ่ง ชีวิตของการประกอบอุตสาหกรรมนั้นไม่ใช่ของง่าย เวลาที่เราดูวิวัฒนาการอุตสาหกรรมไทยมาโดยตลอดนั้นจะเห็นได้ว่ามันเปลี่ยนยุค เปลี่ยนทาง หลายสิบปีทีเดียว แต่ถ้าท่านได้คลุกคลีกับผู้ประกอบการอุตสาหกรรม ท่านจะทราบดีว่าการเป็นนักอุตสาหกรรม ไม่ใช่เรื่องง่าย  จริงๆ แล้วผู้ประกอบการอุตสาหกรรมนั้น เป็นบุคคลที่ควรจะได้รับการยกย่องเป็นอย่างยิ่ง ถ้าเราไม่รู้จักพวกเขา ในบางครั้งเราคิดว่าคนเราลงทุนตั้งอุตสาหกรรมขึ้นมาก็เพราะว่าอยากจะได้ผลตอบแทนสูง ๆ อยากจะร่ำรวย จริงๆ แล้วตรงนั้นเป็นเพียงเสี้ยวเดียวเท่านั้นเองของพวกเขา ในชีวิตของผมนั้นบังเอิญได้คลุกคลีกับนักธุรกิจ นักอุตสาหกรรมที่หลากหลาย ผมอยากจะกล่าวว่าจริง ๆ แล้วคนที่ลงทุนในอุตสาหกรรมจริง ๆ แล้วมันเริ่มจากความรักของเขาในส่วนตัว ในสิ่งนั้น ๆ  ความสนใจ อยากสร้างสิ่งที่มีคุณค่าอันนี้ขึ้นมาเป็นธุรกิจ อยากให้มันเติบใหญ่ บางทีเราเห็นภาพของเราจากตอนที่เขาสำเร็จมาแล้ว แต่เราไม่เห็นภาพเขาตอนหมุนเงิน ไม่เห็นตอนเขาไปหานายแบงค์ ไม่ได้เห็นเขาในตอนที่เกิดวิกฤติในเศรษฐกิจ สิ่งเหล่านี้นั้นมันทำให้ภาพของการเป็นนักอุตสาหกรรมง่ายดายจนเกินไป  สมัยที่ผมร่ำเรียนหนังสืออยู่ ผมได้อ่านประวัติของนักอุตสาหกรรมผู้ยิ่งใหญ่ทั้งหลาย ได้เห็น SONY ซึ่งเป็นชาวญี่ปุ่น นักวิศวกรสองคน ทำตลับเทปง่ายๆ เดินทางไปขายที่อเมริกา กว่าจะสร้างตัว SONY ขึ้นมาได้ ไม่ธรรมดาเลย ผมได้คุ้นเคยกับผู้ประกอบการไทยจำนวนมาก พวกเขาเหล่านั้นเริ่มจากสินค้าเล็ก ๆ บางคนเริ่มจาก ค้าส่ง ปลีก เสร็จแล้วก็เชิญนักลงทุนต่างชาติเข้ามาร่วมลงทุนด้วย ค่อยๆ ขยับขยายไป ทั้งหมดนี้เกิดจากความรักทั้งสิ้น ถามว่ากำไรสูงมากจริงไหม ? มันก็จริง แต่กว่าจะได้กำไรนั้น บางครั้งเลือดตาแทบกระเด็น 

ไม่ต้องอะไรมากเมื่อสักครู่นี้ผมเห็นอุตสาหกรรมเหล็ก ขึ้นมารับรางวัล อุตสาหกรรมเหล็กเนี่ยลงทุนเป็นหมื่น เป็นแสนล้าน กว่าจะได้กำไรขึ้นมานั้นเลือดตาแทบกระเด็น กลุ่มอุตสาหกรรมเหล็กในเมืองไทยนั้นมีไม่กี่กลุ่มหรอกครับ  แต่ท่านไปถามผู้ประกอบการทุกกลุ่มได้เลยว่า การต่อสู้ การสร้งอุตสาหกรรมนี้ขึ้นมา ยากลำบากแค่ไหน  อุตสาหกรรมอุปโภค บริโภคก็เหมือนกัน กว่าจะสร้างสินค้าขึ้นมาสักชิ้นนึง แข่งกับยี่ห้อต่างประเทศ มันไม่ง่ายเลย

 ฉะนั้นการต่อสู้กันมายาวนานในสภาพการแข่งขันที่รุนแรง พวกเขาสามารถสร้างตัวขึ้นมาได้ เมื่อยามที่ตลาดหุ้นไทยบูม ประมาณสัก 10 กว่าปีที่แล้ว ก่อนที่จะเกิดวิกฤติทางเศรษฐกิจปี 40  ยุคนั้น คนที่ร่ำรวยเร็ว ก็มักจะเป็นผู้ที่เกี่ยวข้องอยู่ในวงการ ธุรกิจการเงิน ตลาดหุ้น อสังหาริมทรัพย์  ท่านจะเห็นคนที่ร่ำรวยเป็นพันล้าน ภายในเวลาไม่กี่วัน หลังจากที่ทำธุรกิจขึ้นมา แต่นั่นไม่ใช่นักอุตสาหกรรม นักอุตสาหกรรมเขาผ่านยุค ผ่านสมัย ทั้งยุครุ่งเรือง ทั้งยุคลำบาก ยิ่งตอน สมัยเกิดวิกฤตินั้นพวกเขากู้ยืมเงินจากต่างประเทศเป็นส่วนใหญ่ ความรู้เท่าไม่ถึงการ ทำให้เขากู้เงินจากต่างประเทศจำนวนมหาศาลเลยทีเดียว ดอกเบี้ยต่ำเตี้ยนิดเดียว ทำให้เขาไปกู้จากต่างประเทศเข้ามา แต่เมื่อเราเกิดปัญหาวิกฤติเศรษฐฏิจ ค่าเงินบาทลอยตัว เขาเหล่านั้นล้มทั้งยืน แต่ในเวลาเพียงแค่ 10 กว่าปี  พวกเขากลับฟื้นขึ้นมาอีก ทั้งหมดนี้มันไม่ใช่ความมหัศจรรย์ แต่มันคือความอดทน ความรัก ที่เค้าทุ่มเททั้งชีวิตให้กับอุตสาหกรรม ฉะนั้นวันนี้ท่านจึงได้เห็นผู้ประกอบการอุตสาหกรรมรายใหญ่ๆ มีชื่อเสียง บางรายรุ่งสู่ตลาดโลกเป็นเบอร์ 1ของโลก ในขณะเดียวกัน เราก็เห็น SME รายใหม่ๆ ที่กำลังเกิดขึ้นมา และกำลังจะเดินรอยตามรุ่นพี่ ที่ประสบความสำเร็จไปแล้ว มันเป็นชีวิตที่ไม่ง่าย จริง ๆ แล้วมันน่าจะเป็นบทเรียนที่ดี สำหรับคนรุ่นหลังว่า การสร้างตนให้ค่อย ๆ เติบโตขึ้นมา จนกระทั่งเกื้อกูลกับประเทศชาติได้แล้วเนี่ย มันเป็นสิ่งที่น่ายกย่องเป็นอย่างยิ่งและผมก็อยากจะเรียนพวกท่านว่าอุตสาหกรรมไทยนั้นกำลังมาถึงจุดที่ต้องเปลี่ยนแปลง ต้องปรับปรุง ต้องพัฒนา เพราะสิ่งที่ท่านมองไปข้างหน้านั้น ในบางครั้งสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นข้างหน้า มันไม่ใช่สิ่งที่ท่านผ่านมาในอดีต หลายสิ่งหลายอย่างเช่น ยกตัวอย่างที่ 1. วันนี้สินค้าอุตสาหกรรมไทยส่วนใหญ่นั้น มันอยู่ตรงกลาง จะต้นทุนถูกก็ไม่ใช่ ต้องไปแข่งกับประเทศที่เขาต้นทุนถูกกว่า จะมีเทคโนโยยีที่สูงจนคนตามไม่ทันก็ไม่ใช่ ครึ่ง ๆ กลาง ๆ เป็นส่วนใหญ่แต่อาศัยว่ามีแรงอึดจากอดีตสินค้ายังมีคุณภาพเป็นที่รับรอง สินค้าคู่แข่งจากประเทศที่ด้อยกว่ายังตามเราไม่ทัน แต่ก็หายใจรดต้นคอแล้ว  ในขณะเดียวกันมองขึ้นไปข้างบนยังสู้เขาไม่ได้ คุณภาพสู้ไม่ได้ วิธีการสู้เขาไม่ได้ ผมเคยยกตัวอย่างสิ่งทอ เราเคยยิ่งใหญ่มากในอาเซียน เคยยิ่งใหญ่มากในเอเชีย เพราะเราผลิตได้ในต้นทุนที่ถูก เรามีผู้ประกอบการญี่ปุ่นมาลงทุนร่วม แล้วเราก็ผลิตสินค้าขึ้นมาขายในประเทศ  ส่งออกไปต่างประเทศ ไม่มีคู่แข่งที่น่ากลัว แต่วันนี้ผู้ประกอบการต่างประเทศที่ค่าแรงถูกกว่าเกิดขึ้นเป็นดอกเห็ด ในขณะเดียวกันผู้ประกอบการต่างประเทศที่มีเทคโนโลยีสูงกว่า มีการตลาดที่เหนือกว่า เขามาแรงมาก ๆ ผู้ประกอบการไทยในอุตสาหกรรมเหล่านี้ถ้าไม่ปรับตัวอนาคตจะลำบาก จริง ๆ เขารู้ตัวมานานกว่า 10 ปีแล้ว  แต่เนื่องจากยังขาดแรงกระตุ้น ยังคิดว่าพอไหว พอค่าแรงไทยเพิ่มขึ้นมาเป็น 300 บาท ตอนนี้เริ่มขยับขยายไปที่อื่น จนกระทั่งรัฐบาลต้องเริ่มคิดเรื่องสิทธิพิเศษที่อยู่ตามชายแดน เพื่อให้พวกท่านนั้นยังสามารถดำรงค์อยู่ได้ ยังแข่งขันอยู่ได้ นี่เป็นเพียงตัวอย่างที่มันเกิดขึ้น ฉะนั้นคำว่า ครึ่งๆ กลางๆ ถูกก็ไม่ใช่ โดดเด่นก็ไม่เชิง ถึงจุดที่ท่านจะต้องพยายามพลิกฟื้นตัวเอง ปรับเปลี่ยนตัวเองให้แข่งขันได้

ประการที่ 2. ในอดีตท่านแข่งด้วยต้นทุน ท่านเป็น OEM รับจ้างผลิตตามออเดอร์ ยิ่งผลิตเท่าไหร่ OEM ก็มีความหมายน้อยลงทุกที น้อยลงทุกที อนาคตข้างหน้าคนเรานั้นต้องมีนวัตกรรมที่จะทำให้ช่วยลดต้นทุนการผลิต เพิ่มประสิทธิภาพ เพิ่มจุดเด่นในการแข่งขัน นวัตกรรมมาจากอะไร ?  ประการแรกคือมาจากความคิดสร้างสรรค์  ความคิดสร้างสรรค์เกิดขึ้นได้ยังไง ?  ต้องเริ่มจากภายในองค์กร  ทำยังไงให้องค์กรนี้สามารถเกื้อหนุนให้มีนวัตกรรมเกิดขึ้นได้ในบริษัท หรือไม่ก็ต้องมาจากเทคโนโลยี เรามีวิทยาการไหม? เรายินยอมไหมที่จะลงทุนเพื่อการค้นคว้าวิจัย ? บริษัทเล็ก ๆ ไม่มีปัญญา แต่บริษัทยักษ์ใหญ่ก็ยังน้อย แต่ในอนาคต ถ้าคุณจะแข่งขันกับโลกนั้น เป็นอย่างนั้นไม่ได้ ในต่างประเทศที่เจริญเร็ว สินค้าไปได้เร็ว เพราะกำไรของเขาตัดส่วนนึงมาลงให้กับเรื่องนวัตกรรม ผมเคยไปเยี่ยม SAMSUNG มา 2-3 ครั้ง เขาตัดกำไร 10-20% ลงทุนในการพัฒนาวิจัย ค้นคว้า และไม่ใช่การค้นคว้าเพื่ออนาคตอันใกล้ แต่เป็นการลงทุนค้นคว้าเพื่อศักยภาพอนาคตข้างหน้าว่าอีก 20 ปี ข้างหน้า อุตสาหกรรมไหนเป็นอนาคตของเขา สิ่งเหล่านี้นี่และเป็นตัวอย่างที่ดีว่า ถ้าเราไม่เริ่มด้วยตัวเองวันนี้ ต้องรอให้รัฐบาลมีแรงจูงใจ เรื่องภาษี ถึงจะยอมลงทุนอย่างงี้ เขาเรียกว่า “ไม่เห็นโรง ไม่หลั่งน้ำตา” พอเห็นโรงปั๊บ หันมาหารัฐบาลว่าเมื่อไหร่จะจูงใจ  อย่างงี้ไม่ใช่  ท่านต้องรู้ว่าท่านต้องลงทุนเท่าไหร่จะเชื่อมโยงกับมหาวิทยาลัยอย่างไร ท่านทราบไหมครับว่ามหาวิทยาลัยนี้คือองค์ความรู้ใหญ่เลย แต่เราไม่ได้รับความเชื่อมโยงจากมหาวิทยาลัยมาสู่บริษัทเลย มหาวิทยาลัยนั้นมี รีเซิช ในเรื่องอาหาร , นาโนเทคโนโลยี มีความรู้ความสามารถในเรื่องการตลาด ในเรื่องการดีไซน์แคเกจจิ้ง แต่นักวิชาการก็ดูว่าเขาอยู่ในโลกของวิชาการ มีเพียงอาจารย์บางท่านที่ออกมาข้างนอก เป็นที่ปรึกษาให้กับนักธุรกิจทั่ว ๆ ไป แต่ถ้าท่านรู้จักต่อยอดกับมหาวิทยาลัย ให้ทุนมหาวิทยาลัย เสร็จแล้วมาทำนวัตกรรมแล้วแบ่งกัน แบ่งผลประโยชน์ที่ได้ร่วมกัน ท่านจะได้นวัตกรรมใหม่ ๆ ไม่ว่าจะเป็นอาหารเกษตร ทุกประการ ท่านแบ่งกันได้กับสถาบันการศึกษา มหาวิทยาลัยเขาจะมีทุนในการวิจัย ท่านก็จะมีนวัตกรรมใหม่ ๆ ที่ไปประกอบการได้ อันนี้นี่แหละคือหนทางที่ทำให้เกิดนวัตกรรม

ประการที่ 3.  ผมยกตัวอย่างง่าย ๆ ถ้าท่านสังเกตุให้ดี ๆ สมัยนี้สินค้าอย่างเราผลิตขึ้นมาเนี่ยมันไม่ได้ผลิตอยู่ประเทศใดประเทศหนึ่ง มันเป็นลักษณะของ Global Supply Chain ทั้งห่วงโซ่มันแบ่งออกไปอยู่ทั่วโลกเลย อยู่ที่ว่าจุดไหน เหมาะสำหรับ Supply Chain ส่วนไหน แล้วใช้การบริหารจัดการเพื่อให้ได้ผลผลิตออกมาแล้วต้นทุนต่ำที่สุด สินค้าดีที่สุด ลักษณะเช่นนี้นั้นทำให้ผู้ประกอบการ มีทางเลือกอยู่ 2 อย่างคือ

1.     การดิ้นรนพัฒนาตนเองให้สามารถสอดแทรกเข้าไปอยู่ในห่วงโซ่ของโลกได้ ถ้าท่านไม่สามารถแทรกเข้าไปได้  อีกทางหนึ่งก็คือ

2.     ท่านต้องสร้าง Value Chain ท่านขึ้นมา สร้างมาเพื่อให้ท่านสามารถมีจุดเด่นในการแข่งขันได้ ยกตัวอย่าง ถ้าท่านเป็นผู้ประกอบการสิ่งทอ เสื้อผ้า ถ้าท่านไม่มีดีไซน์ ไม่มีนวัตกรรมทางเส้นด้าย ถ้าท่านไม่มีความเชี่ยวชาญทางการตลาด วัตถุดิบแพง ท่าจะเอาอะไรไปสู้กับ UNIQLO กางเกงยีนส์ตัวละ 1,000กว่าบาท เสื้อตัวละ 3-4 ร้อยบาท ฝรั่งเจอยังม้วนเลย แล้วเอเชียจะเหลืออะไร

สินค้าที่ถูก ดีไซน์ดี ขายทั่วโลก รู้จักใช้การตลาด ใช้วงจรสินค้าที่สั้น เปลี่ยนรูปแบบใหม่เร็ว คู่แข่งตามไม่ทัน พอจะก็อปปี้เราก็ไปแบบใหม่แล้ว  นี่ไม่ใช่กลยุทธ์ใหม่เลย กลยุทธ์อันนี้คือกลยุทธ์ดั้งเดิมของญี่ปุ่นอยู่แล้ว ให้คู่แข่งตามตลอด ตามจนเหนื่อย ญี่ปุ่นเอง 20 ปีที่แล้ว สบายเกินเหตุ พอใจกับความยิ่งใหญ่ของตนเอง ปล่อยให้เกาหลีใต้ขึ้นมาทาบรัศมี คู่แข่งอย่าง SAMSUNG อดีตเมื่อประมาณ 30 กว่าปีที่แล้วเป็นเพียงแค่ผู้ติดต่อทำ OEM กับไทยเรา แต่วันนี้ SAMSUNG กลายเป็นยักษ์ ของโลก นี่คือความแตกต่างของ ความอุสาหะ ความพอดี ๆ กับการที่เกิดตรงตามเวลาที่เหมาะสม การช่วยเหลือจากภาครัฐบาลที่ให้กับเขาในอดีต ซึ่งไทยเราตอนนั้นยังไม่มี จริง ๆ แล้วเรามาก่อน คิดสร้างสรรค์ก่อน  ธานินทร์ เนี่ยน่ายกย่องเขามาก ที่เขาเริ่มตั้งแต่สมัย 40 ปีที่แล้ว แต่เขาไม่สามารถยืนอยู่ได้จนถึงทุกวันนี้ 

               ฉะนั้นเรื่องของ Global Supply Chain เป็นสิ่งที่สำคัญมากเลยทีเดียว สิ่งเหล่านี้มันกำลังเปลี่ยนแปลงมาก เทคโนโลยีทำให้เกิดอะไรขึ้น ? เทคโนโลยีเช่นอินเตอร์เน็ตนั้นมันทำให้ผู้บริโภคมีอำนาจสูงเหลือเกินในขณะนี้  เขาสามารถ Demand ได้ว่าเขาต้องการสินค้าประเภทไหน ดีไซน์อย่างไร สามารถช็อปปิ้งได้โดยตัวเองผ่านอินเตอร์เน็ต ลักษณะเช่นนี้ ถ้าเรายังผลิตตาม OEM ผลิตแล้วส่งออก ผลิตแล้วไปแสดงโชว์สินค้า คุณตามโลกเขาไม่ทัน หน่วยงานราชการก็เหมือนกัน ถ้าเรายังไม่มองว่าโลกเขาเปลี่ยนเป็นอย่างงี้นะ แล้วลักษณะการทำงานของเราเป็นอย่างงี้นะ เราจะไม่สามารถช่วยเหลือเขาได้มากเพียงพอ ถ้าโลกกำลังก้าวเข้าสู่ e-commerce ผู้ประกอบการของไทย ไม่มี e-commerce ที่ใหญ่พอ  Alibaba เอกชนแท้ ๆ เขาครอบคลุมทั่วโลก ในระดับประเทศเรากลับไม่มี เราล้าหลัง ฉะนั้นภาครัฐต้องเร่งพัฒนา เพื่อให้เป็นที่พึ่งกับเอกชนได้ เอกชนเองก็ต้องเริ่มจากตัวเอง ต้องเรียนรู้ ต้องรู้ว่าการค้าขายผ่าน e-commerce ทำยังไง สิ่งเหล่านี้ถ้าหากว่ารัฐบาลสามารถอำนวยความสะดวกได้ ซึ่งท่านนายกได้ออก พรบ. ไว้แล้ว เรื่องของการอำนวยความสะดวก เรื่องของอุตสาหกรรม ทำให้ง่ายเข้า เร็วเข้า สิ่งเหล่านี้จะเกื้อหนุนให้อุตสาหกรรมไทยทำงานไปได้ในอนาคตข้างหน้า

               สิ่งที่ผมกล่าวมาทีละข้อ ๆ มันไม่มีข้อใดสำคัญเท่าข้อสุดท้าย คือความรับผิดชอบ ตอนนี้ไม่ได้โทษสังคมนะ สมัยนี้คือ โลก นะ  ถ้าท่านไม่มีความรับผิดชอบต่อโลก สินค้าของท่าน ขายไม่ออก ท่านเชื่อผมเลย เด็กยุคใหม่ถูกสร้างขึ้นมาเวลาที่เขาเรียนหนังสือ ให้เน้นการรักษาสิ่งแวดล้อม อนาคตผู้ประกอบการทั้งหลายที่ทำลายสิ่งแวดล้อม คุณจะถูก Anti ทั่วโลก สินค้าคุณจะขายไม่ออกทั่วโลก อันนี้แน่นอน ผู้ประกอบการที่คิดว่า ตีหัวเข้าบ้านแล้วรวย ใช้แรงงานทาส มันรวยได้พักนึง อนาคตจะลำบาก ไม่เพียงลำบากต่อท่าน แต่ลำบากต่อทั้งอุตสาหกรรมเลย ที่โลกเขาจะ Anti ไม่รับสินค้าของท่าน ไม่รับสินค้าจากประเทศไทย ไปจัดจำหน่ายประเทศของเขา ถ้าผู้ประกอบการมีความรับผิดชอบต่อโลก ก็มีความรับผิดชอบต่อประเทศไทยด้วย  ท่านคือกำลังที่เข็งแกร่ง จะทำยังไงให้การผลิตของท่านนั้น เชื่อมโยงกับ SME เชื่อมโยกกับท้องถิ่น เชื่อมโยงกับชาวบ้าน มีสินค้าใดบ้างไหมที่ให้หมู่บ้านไปช่วยกันทำขึ้นมา มีทางไหมที่จะเอาเงินที่ได้จากกำไรนั้น ไปลงทุนในธุรกิจที่เน้นเพื่อสังคม ไปช่วยสังคม ผมเชื่อว่าธุรกิจไทยนั้นมีจิตใจกุศลอยู่แล้วที่อยากจะทำ แต่ในอดีตนั้นต่างคนต่างทำ ไม่มีเป้าหมาย อนาคตกำหนดเป้าหมายได้หรือไม่? ในเมื่อรัฐบาลนั้นกำลังคิดว่าจะไปสร้างเศรษฐกิจท้องถิ่นให้แข็งแรง ต้องการจะเข้าไปช่วยพัฒนาหมู่บ้าน พัฒนาการผลิต สร้างแหล่งท่องเที่ยวท้องถิ่น สิ่งเหล่านี้ท่านช่วยได้หรือไม่ ? ท่านเคยเห็นใช่ไหมคะ สินค้าบางยี่ห้อต่างประเทศ ที่เขาจะเขียนข้างหลังซองว่าสินค้าของเขาตัวนี้ใช้มาจากแหล่งวัตถุดิบจากประเทศเอธิโอเปีย เข้าไปในหมู่บ้าน ใช้แรงงานชาวบ้าน ผลตอบแทนนั้นให้กับไปที่นั่น คนที่อ่านสินค้าตรงนี้ก็จะรู้สึกรักบริษัทนี้ อยากใช้สินค้าบริษัทนี้ ขณะนี้มันไม่เท่าไหร่หรอก แต่ในอนาคตข้างหน้าจะมีพลังมหาศาลมาเลยทีเดียว

ฉะนั้นวันนี้ที่นั่งอยู่ในห้องนี้ มีทั้งบริษัทยักษ์ใหญ่ บริษัทกลาง บริษัทเล็ก ฉะนั้นอยากจะฝากว่า ในการเป็น Growth  Global Citizen มันกำลังเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่ง ไม่แพ้การแสวงหาผลกำไร ฉะนั้นงานในวันนี้เป็นงานที่ให้รางวัลกับผู้ประกอบการอุตสาหกรรม รางวัลที่ได้นั้น มันก็สอดคล้องมากับสิ่งเก่า ๆ 4-5  ข้อนี้แหละ ทำยังไงจะให้มีนวัตกรรม ทำยังไงให้มีคุณภาพแข่งขันได้ ทำยังไงให้มีความโปร่งใส ทำยังไงให้มีความรับผิดชอบต่อสังคม งานนี้จึงสามารถดำรงค์อยู่ได้มานานปี ผมคิดว่าเป็นงานที่ดีมาก ๆ งานนี้จัดมาเพื่อให้กำลังใจกับผู้ที่อดทน พัฒนาตนเอง เป็นตัวอย่างให้ผู้ประกอบการรุ่นหลัง และผู้ที่ไม่ได้รางวัลในวันนี้ ก็อย่าเสียกำลังใจ วันนี้รัฐบาลพยายามดูว่ามีอะไรจะช่วยพวกท่านได้ ฉะนั้นยุคสมัยมันเปลี่ยนไปแล้ว ในอดีตอาจไม่ได้นโยบายที่มากนักแต่วันนี้เราเน้นตรงนี้ และผมเชื่อว่าด้วยความสามารถของนักอุตสาหกรรมไทย นักอุตสาหกรรมไทยเนี่ยไม่ได้แพ้ชาติอื่นเลย ถ้าเขาเพียรพยายาม รัฐบาลช่วยเหลือเขา อำนวยความสะดวกให้เขา ผมเชื่อว่าถ้าร่วมกันแล้วเนี่ยเราจะก้าวไปข้างหน้า เติบโตไปข้างหน้า อย่างมั่นคง อย่างที่ท่านนายกพยายามจะบอกว่า  Go with Together นี่แหละ มันก็จะ Strong Together   ขอยินดีอีกครั้งกับผู้ได้รับรางวัล ขอบคุณมากครับ