บทบาทของพลเมือง กับ การพัฒนาประเทศ

      วันนี้ประเทศของเรานั้นอยู่ในแผนพัฒนาฉบับที่ 11 ฉบับที่ 1 นั้น เกิดขึ้นเมื่อปี 2504  ผ่านมาแล้ว 52 ปี ถ้าเรานับเอามาตรวัดที่เป็นสากลในการวัดความก้าวหน้าของประเทศไทย เราจะเห็นว่าประเทศไทยก้าวมาไกลทีเดียว ในปัจจุบันนี้เรามี GNP ประมาณ 10 ล้านล้านบาทไทย เรามีรายได้ต่อหัวของประชาชน ต่อปี ตกแล้วประมาณ คนละแสนกว่าบาทต่อปี ปีนี้ใคร ๆ ก็คาดว่าประเทศไทยจะมีความเติบโตทางเทศกิจประมาณ 5-6% มีระดับเงินเฟ้อประมาณ 3-4%  เราได้รับขนานนามว่าเป็นเสือเศรษฐกิจตัวนึงของอาเซียน เป็นประเทศที่อยู๋ในระดับแนวหน้าของอาเซียนและคาดกันว่าในอนาคตเราอาจเป็นใจกลางของอาเซียน นั่นคือภาพของประเทศไทยที่มองจากภายนอก มองจากมาตรวัดทางด้านเศรษฐกิจที่เป็นสากล แต่จริงๆ แล้วจากความรู้สึกของผมที่เป็นคนทำงานมาโดยตลอด มองจากภายใน และเรียนรู้จากประสบกาณ์ จริงๆ แล้ว ในช่วง 2 ทศวรรษ ที่ผ่านมานั้น ลึกลงไปในกระบวนการพัฒนานั้นหลายสิ่งหลายอย่างเริ่มไม่ถูกต้องเริ่มมีสิ่งที่เป็นปัญหามาก ๆ และมันสะสมกันมาเป็น สิบ ๆ ปี ภาพจากภายในเมื่อดูลึกลงไปนั้นเราจะเห็นว่าประเทศไทย ถ้าเป็นคนก็ไม่ใช่คนที่มีสุขภาพแข็งแรง เป็นคนอมโรค แล้วยังไม่ยอมรักษา

 

 การเติบโตของเศรษฐกิจไทย      

      ในทางด้านเศรษฐกิจนั้นถึงแม้ว่าเรายังรักษาระดับการเติบโตของเศรษฐกิจเราไว้ได้ แต่ยิ่งนานวันกลับรู้สึกว่าความมั่งคั่งเหล่านั้น มันกลับไปกระจุกตัวอยู่ในฐานแคบ ๆ กระจายไม่ออก ท่านจะไม่เชื่อเลยว่าในปัจจุบันนี้เวลาที่เค้าแร็งกิ้งประเทศไทยในบรรดาประเทศที่มีความไม่เท่าเทียมกันในการกระจายรายได้ ประเทศไทยนั้นติดในอันดับที่ 12 ของโลก แต่เป็นที่ 1 ของเอเชีย หมายความว่า ระหว่างคนที่มีฐานะสูงสุด 20% แรก กับ 20% ต่ำสุด ไทยเรามีช่วงห่างมากที่สุดในเอเชีย    20% แรกของประชากรเมืองไทย มีรายได้เฉลี่ยมากกว่า 20% ข้างล่างถึง 13-14% สิ่งเหล่านี้นั้นเป็นสิ่งที่น่าเป็นห่วง ถามว่าเป็นเพราะอะไร? เราทุกคนรู้ว่าคนไทยเราส่วนใหญ่อยู่ในภาคเกษตร แต่ภาคเกษตรกรรมของเรานั้นล้าหลัง ไม่เคยยอมปฏิรูปจริงๆ จัง ๆ สักทีนึง ไม่ว่าจะกระบวนการผลิต ,เทคโนโลยี , ชลประทาน , กระบวนการแปรรูปสินค้าเกษตรให้มีมูลค่ามากขึ้น  , ไม่ว่าในเชิงการจัดการสมัยใหม่ ประเทศไทยเรานั้นแม้ได้ชื่อว่าเป็นอู่ข้าวอู่น้ำในด้านเกษตรกรรม แต่เป็นประเทศที่ผลิตสินค้าเกษตรที่ด้อยมูลค่า การที่เราไม่จริงจังกับการพัฒนาการเกษตร ประชาการส่วนใหญ่ที่อยู๋ในภาคเกษตรกรรมนั้นก็ยากจน ต้องไปทำงานเป็นแรงงานอยู่ในภาคอุตสาหกรรม

แต่ในภาคอุตสาหกรรมของเรานั้นตลอดเวลา 30 ปี ที่ผ่านมา เรามุ่งเน้นการพัฒนาสิ่งที่เขาเรียกว่า กระแสหลักทางเศรษฐกิจ คือการดึงนักลงทุนจากต่างประเทศ เข้ามาลงทุนในประเทศไทย เพื่อเน้นการส่งออกอีกทีหนึ่ง แต่สินค้าที่เราผลิตนั้นเป็นสินค้าซึ่ง เน้นราคาต่ำ ต้นทุนต่ำ  อาศัยแรงงานถูก ความเพียรพยายามในการพัฒนากระบวนการผลิตให้สามารถเพิ่มมูลค่าให้สูงขึ้น ๆ อย่างที่ประเทศอื่นเขาทำกันนั้น เรายังมีน้อยมาก จำกัดเฉพาะบริษัทใหญ่ ๆ เมื่อเทคโนโลยีและกระบวนการพัฒนาสินค้าของเรานั้น ไม่สามารถยกระดับมูลค่าได้ ก็เป็นธรรมดาที่ค่าจ้างแรงงานนั้นก็ต้องต่ำ ฉะนั้นค่าจ้างแรงงานไทยเนี่ย ไม่ได้ขยับมานานแล้ว เพราะมันขยับยาก ขยับแล้วผู้ประกอบการก็จะเริ่มประสบผลขาดทุน หรือกำไรน้อยลง แต่พอขยับขึ้นมาเป็น 300 บาท สิ่งที่เกิดขั้นในความเป็นจริงนั้น มันเป็นนโยบายที่ดี แต่ผู้ประกอบการไทยนั้นเนื่องจากไม่เคยพัฒนาสิ่งเหล่านี้เลย มันก็เริ่มขาดทุน

สิทธิความเท่าเทียมของพลเมือง

      ในอนาคตถ้าเรามองออกไปไกลพอ เมื่อ ACE เกิด สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือว่า คนที่ได้รับเคราะห์นั้นก็ยังเป็นผู้ที่ใช้แรงงานราคาต่ำ เพราะเมื่อพรมแดนมันเปิด แรงงานประเทศอื่นก็ถูกกว่า ยกตัวอย่างง่ายๆ เลย สิ่งทอไทย เขาต้องปรับระบบการผลิตใหม่หมด บางทีอาจจำเป็นต้องไปอยู่ในประเทศอื่น ซึ่งต้นทุนแรงงานถูกกว่าเรา ในส่วนที่จะยืนหยัดอยู่ได้ในประเทศไทย ก็ต้องพยายามอัพเกรดสินค้าเขาขึ้นมา เช็คเทคโนโลยีใหม่มากขึ้น ผลิตสินค้าที่มีมูลค่ามากขึ้น หมายความว่าเขาต้องใช้แรงงานที่มีความรู้ความสามารถมากขึ้น สิ่งเหล่านี้ถ้ามีแต่การปรับตัวในเรื่องของนโยบายแรงงาน ก็หมายความว่าแรงงานไทยจะต้องถูกกดดันจากแรงงานต่างประเทศ ซึ่งต้นทุนถูกกว่า ในขณะเดียวกันก็ไม่สามารยกระดับตัวเอง ให้ไปสู่แรงงานที่ซึ่งสามารถผลิตสินค้ามูลค่าสูงได้ ซึ่งต้องอาศัยความรู้ ความสามารถอีกระดับหนึ่ง มันก็คือการกดดันทำให้แรงงานไทยนั้นในที่สุดแล้วจะมีการจ้างงานน้อยลงถ้าไม่พัฒนาตั้งแต่วันนี้ เรารู้ว่าประเทศไทยนั้นสินค้าของเราอยู่ตรงกลาง ระหว่างสินค้าราคาต่ำ และสินค้าราคาสูง เราไม่พัฒนามันขึ้นมา เรารู้ว่าประเทศไทยนั้น วิธีการแก้ไขความจนอีกอย่างหนึ่งคือการกระจายอำนาจการบริหารออกไปสู่ภูมิภาค ส่วนท้องถิ่น เพราะนั่นจะทำให้การพัฒนานั้นสอดคล้องกับท้องถิ่น สอดคล้องกับภูมิภาค หลายๆ ประเทศนั้น แม้กระทั่งประเทศจีนซึ่งจนกว่าเราหลายเท่านักในอดีต เขากระจายมันออกไป การบริหารจัดการ ตั้งแต่การบริหารเศรษฐกิจ การศึกษา การปกครอง มหาวิทยาลัย ชุมชนทั้งหลาย แต่ละท้องถิ่นเขามียุทธศาสตร์ของเขาเอง เขาพัฒนาไปถึงระดับที่ว่าเอาหมู่บ้าน เอาชุมชน เอาตำบล เอาจังหวัดหลายจังหวัดซึ่งมันเกี่ยวข้องกัน วางอยู่ในยุทธศาสตร์ร่วมกัน ทำในสิ่งที่ซึ่งคนในท้องถิ่นนั้นสามารถแข่งขันกับโลกได้ ประเทศไทยเราไม่ยอมขยับรวมศูนย์อำนาจเข้าสู่ส่วนกลาง เหตุที่ไม่ขยับ ไม่ใช่ว่ามันขยับไม่ได้ แต่มันเป็นการหวงแหนในอำนาจ หวงแหนในงบประมาณ โครงสร้างการบริหารจัดการนั้นเป็นส่วนไซโล ที่ละกระทรวง ๆ ไม่ประสานงานกัน ซ้ำซ้อนกัน ท้องถิ่นอยากจะพัฒนาตนเองขึ้นมา ก็บอกว่ายังไม่เจริญพอ งบประมาณที่จะกระจายออกไปจะศูนย์เปล่า สิ่งเหล่านี้นั้นมันทำให้วิถีทางในการพัฒนานั้นมันไม่สามารถเริ่มจากท้องถิ่นได้แรงพอ ไม่ว่ามองในประเด็นไหน เรามีปัญหา และมีปัญหามากขึ้นทุกที เรารู้ว่าทางนึงในการช่วยแก้ไขความยากจนและกระจายความเท่าเทียมนั้นคือ การเพิ่มโอกาสให้แก่ท้องถิ่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการศึกษา ในสวัสดิการทางสังคม ในเรื่องสาธารณสุข ต่างๆ เหล่านั้น แต่มันไม่เพียงพอและมันเป็นไปไม่ได้ที่จะเพียงพอ เพราะงบประมาณของเรานั้นมันมีอยู่จำกัด คุณรู้ว่าคุณจะต้องปฏิรูปงบประมาณครั้งใหม่ ทำให้มันดีขึ้น ศูนย์เปล่าน้อยลง และเอาเงินจากฐานภาษี ซึ่งจะต้องกระจายออกให้มันมากขึ้น ไม่ใช่แคบ อย่างที่เป็นมาในขณะนี้ ถ้าไม่ทำในวันนี้อนาคตงบประมาณไม่มีทางเพียงพอที่จะมาช่วยจัดสรรสวัสดิการสิ่งต่างๆเหล่านี้ให้แก่คนจนในชนบทได้ เรารู้ว่าเราต้องปฏิรูปงบประมาณ รู้มานานแล้ว แต่เราไม่เคยจริงจังกับการขยับเลย นักวิชาการก็พูด ไม่ใช่ไม่พูด พูดแล้วพูดอีก อัตราการใช้จ่ายงบประมาณนั้นมันเพิ่มขึ้นมากกว่าอัตราความสามารถในการหารายได้ในอนาคตแน่นอน ถ้าเรายังสร้างหนี้ สร้างเงินกู้ขึ้นมา เพิ่มขึ้น ๆ อนาคตงบประมาณนั้นจะน้อยลง ๆ และท้ายที่สุดจะกลับมาสู่ที่คนจนอีกนั่นแหละที่เป็นผู้ที่รับเคราะห์  ถ้าเราไม่ปฏิรูปงบประมาณ อนาคตในอีก 20 ปีข้างหน้า คนแก่ก็มากขึ้น คนจนก็มากขึ้น เมื่อมันไม่เกิดความเท่าเทียมในโอกาส ไม่พยายามพัฒนาการสร้างรายได้ที่แท้จริง เราเน้นแต่การให้ ทำในสิ่งง่าย ๆ ไม่ทำในสิ่งซึ่งเป็นรากเหง้าแห่งปัญหา ไม่ปฏิรูปการศึกษา ไม่พัฒนาท้องถิ่นอย่างจริงจัง ไม่สร้างโครงสร้างพื้นฐานแห่งอนาคต เพราะว่าสิ่งเหล่านี้มันทำได้ แต่มันใช้เวลา ทางการเมืองนั้นเขาต้องการบอกว่าใครชนะเลือกตั้ง เขารู้ว่าประชาชนต้องการอะไร ต้องการการบริโภค ฉะนั้นสิ่งง่าย ๆ เอาไปก่อน ผมได้ว่ารัฐบาลหนึ่งรัฐบาลใดแต่มันเป็นธรรมชาติของการเมืองเมืองไทยนั้นที่มันเป็นอย่างนี้มานานแล้ว แรก ๆ ก็ไม่เป็นไรหรอก แต่ถ้ามันสั่งสมไป ๆ เรากำลังใช้ต้นทุนจากอนาคตนี่แหละมาสุขสบายในวันนี้แต่อนาคตลูกหลานเราจะลำบาก

การมีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศ

      มีหนังสือเล่มหนึ่งเขียนโดยฝรั่ง ชื่อว่า ‘ ทำไมประเทศถึงล้มเหลว ‘ เขียนโดยศาสตราจารย์สองท่าน เขาบอกว่า ประเทศที่มันเจริญเพราะว่าประเทศนั้นพยายาเน้นนโยบายในการสร้างสถาบันทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง ที่จะบูรณาการทุกอย่างนั้นนั้นแข็งแรงในอนาคต แต่ประเทศที่อ่อนแอและล้มเหลว คือประเทศที่ซึ่งเน้นนโยบายที่สกัดกลั่นเอาเฉพาะประโยชน์เบื้องหน้า ให้ได้ผลเฉพาะหน้าอนาคตไม่สนใจ เขาชี้ความแตกต่างระหว่างเกาหลีเหนือกับเกาหลีใต้ พรมแดนติดกัน คนมาจากเผ่าพันธุ์เดียวกัน แต่ความพัฒนานั้นเหมือนฟ้ากับดิน เขาตั้งคำถามว่า ทำไมประเทศที่ล้มเหลวถึงไปเน้นนโยบายเชิงสกัดเอาเฉพาะประโยคเบื้องหน้า ? เขาให้คำตอบว่า มันเป็นเพราะ  การเมืองแบบสกัด คือสกัดเอาน้ำกะทิมาใช้ประโยชน์เฉพาะหน้า ถามว่าแก้ไขได้หรือไม่?  เขารู้หรือไม่ ? อาจารย์สองท่านนี้บอกว่า เขารู้ทั้งสิ้นแต่ไม่อยากจะแก้ไข เพราะประโยชน์เบื้องหน้านั้นมันเห็นชัด ดีไม่ดีเปลี่ยนแปลงแล้ว ประโยชน์ที่เขาควรจะได้กลับไม่ได้ ฉะนั้นเมื่อเวลาทอดออกไปความล้มเหลวมันก็เกิดขึ้นกับประเทศเหล่านั้น

ในทางสังคม สังคมทุกวันนี้เรากลายเป็นประเทศที่แตกแยกทางความคิด คุยกันไม่ได้ ปรองดองกันไม่ได้ เราเป็นประเทศซึ่งค่านิยมเริ่มเปลี่ยนแปลงไป เราเคยยกย่องคนดี วันนี้เรายกย่องคนรวย เด็กเคยชอบตั้งใจจะอ่านหนังสือ ทำความดี วันนี้อยากมีชื่อเสียง อยากเป็นดารา ครอบครัวของคนไทยในอดีตมีความโยงใยที่แน่นแฟ้น วันนี้พ่อไปทาง แม่ไปทาง ครอบครัวไปทาง ยิ่งคนยากจนในต่างจังหวัดต้องเข้ามาทำงานในเมือง ไม่มีปัญญาส่งเสียลูก เอาลูกไปฝากที่บ้าน เมื่อครอบครัวมีปัญหา บุคคลากรของชาติก็มีปัญหา นายกรัฐมนตรี ลีกวนยู ของสิงคโปร์ปีนี้อายุมากแล้ว เขาเคยบอกว่า ปัญหาของประเทศทั้งหมดมันเริ่มต้นจากครอบครัว ถ้าคนเราทำความดี ดูแลสามี ดูแลภรรยา ดูแลพ่อ แม่ ดูแลลูก หลาน ครอบครัวเมื่อเข้มแข็งก็สามารเกื้อกูลเพื่อนฝูง ชุมชน สังคม ประเทศทั้งประเทศก็จะเข้มแข็ง ประเทศอยู่ในประชาธิปไตย ทุกคนมีสิทธิ์แต่สังคมต้องมาก่อน ไม่ใช่บ้าสิทธิ์ ตัวเองเป็นใหญ่ ประโยชน์ตัวเองได้ก่อน สังคมจะอยู่ไม่ได้ คนเราต้องสละสิทธิ์บางอย่างเพื่อให้สังคมอยู่ได้ ประเทศไทยในขณะนี้ค่านิยมของเราต้องการบริโภค ต้องมีนู่นมีนี่เกิดกำลังตัวเองด้วยซ้ำไป การทุจริตคอรัปชั่นก็เริ่มเบ่งบาน เพราะว่าที่ได้มามันไม่พอที่จ่ายไป ค่านิยมของเด็ก หนุ่มสาว สมัยใหม่ มองว่าคอรัปชั่นไม่เป็นไร เก่งจังคนนี้ คอรัปได้ ไม่สนใจว่าพื้นฐานมาจากไหน ขอให้ร่ำรวยมีเงินเป็นใช้ได้ สังคมแบบนี้ถ้าปล่อยนานไป มันคือมะเร็ง พื้นฐานจะเริ่มผุกร่อน จริยธรรมจะหมดไป คุณธรรมจะหมดไป

พลเมือง กับ การเมืองการปกครอง

      ในทางการเมืองว่าจะไม่พูดการเมืองแล้วนะ ต้องขออภัย ต้องพูด เราบอกว่าเราเป็นประชาธิปไตย แต่ประชาธิปไตยบ้านไหน ที่มี นอมินี ? ประชาธิปไตยแบบไหนที่ซื้อเสียง ? การทำสิ่งเหล่านั้นมันเป็นการดูถูกประชาชนหรือไม่ ? ประชาธิปไตยที่เขียนในประเทศอังกฤษ ในอเมริกา เขามีอย่างนี้หรือไม่ ? เมื่อประชาธิปไตยนั้น การเมืองเมืองไทยนั้น มันเป็นการเมืองซึ่งเริ่มผุกร่อน ภาษาอังกฤษเขาเรียกว่า Break Down คือมันล้มเหลว เมื่อมันล้มเหลว สิ่งที่เกิดขึ้นคือ บุคคลากรที่แต่งตั้งก็เริ่มพวกใครพวกมัน เพราะทั้งหมดมันตีกัน ใครเป็นใหญ่ก็ต้องเอาพวกตัวเองไว้ก่อน ไม่อย่างนั้นมันก็จะเกิดความพ่ายแพ้ทางการเมือง เมื่อคิดอย่างนี้ทำอย่างนี้นานไปประเทศทั้งประเทศ สิ่งที่เกิดตามมาคือ สมรรถนะบกพร่อง ไปแข่งกับใครที่ไหนก็ไม่ได้ กรณีมาบตาพุต กรณีน้ำท่วม   อย่าไปโทษคนใดคนหนึ่ง  อย่าไปโทษรัฐมนตรีคนใดคนหนึ่ง แต่มันเป็นเพราะระบบของเรานั้นไม่เน้นความรับผิดชอบในการทำงาอย่างเต็มที่ คนที่ทำนั้นบางทีบกพร่อง ขาดความสามารถเพียงพอ ไม่ใช่เพราะว่ารัฐมนตรีไม่ดี ไม่เก่ง แต่มันสั่งสมมาอย่างงี้ ถึงเวลามันก็อย่างงี้ อย่าแปลกใจเลยภาคใต้ถึงเป็นอย่างงี้ อนาคตจะตามมาอีก ในเมื่อเศรษฐกิจ สังคม การเมือง มันเป็นอย่างนี้ ถามว่าใครจะรับผิดชอบ ? ใครจะแก้ไข ? จะแก้ไขหรือไม่ ?  มันต้องแก้แน่ ๆ ไม่งั้นประเทศมันผุกร่อน แต่ใครล่ะจะแก้ ? คนส่วนใหญ่ก็จะชี้ไปที่รัฐบาล นักการเมือง ถ้าเราเลือกจะอยู่ในประชาธิปไตย เราให้สิทธิ์กับกลุ่มคณะหนึ่งไปทำงานแทนเรา แต่เราไม่ได้มอบหมายความรับผิดชอบของเราให้กับเขาหมดนะ เรายังต้องรับผิดชอบอยู่เต็มประตูว่าบ้านเมืองของเรานั้นจะเป็นอย่างไร ประชาชนนี่แหละคือคนที่ต้องรับผิดชอบท้ายที่สุด เพราะประเทศเป็นของคุณ ลูกหลานเป็นของคุณ ทรัพยากรเป็นของคุณ แต่เราเข้าใจผิดเราคิดว่าเราเลือกตั้งปุ๊บ จบปั๊บ หน้าที่ของเรามีแค่นั้น ที่เหลือนั่งรอและก็ฝากรัฐบาล ทำไม่ดี ฝากทหาร ทหารทำอะไรไม่ได้ ฝากเทวดา ตัวเองนั่งเฉย ผมเห็นหนังสือที่เมื่อสักครู่นี่เขาแจกมาให้ผม เขียนโดยหมอประเวศ  ‘ พลังพลเมือง ‘ อันนั้นนี่แหละคือตัวที่จะแก้ไขจริงๆ จัง ๆ การแก้ปัญหาไม่มีทางลัด แต่ว่าประชาชนนั้นจะต้องพยายามรับผิดชอบ ช่วยกันแก้ไขของมันขึ้นมา คำว่าพลเมืองนั้นมันต่างจากประชาชน  ประชาชนคือ นั่งรอ ถ้าราษฎรเนี่ยก็เป็น ข้าทาสเลย แต่พลเมืองคือคนที่รู้จักสำนึกในหน้าที่ว่า ครอบครัวจะดีได้คือเรา สังคมจะดีได้เพราะเรา การเมืองจะดีได้ก็เพราะเรา การปรับเปลี่ยนสังคมไปสู่สิ่งที่ดีกว่านั้น มันต้องอาศัยการยินยอมพร้อมใจจากประชาชนเจ้าของพื้นที่ เขาต้องมีส่วนร่วม เขาจะต้องเป็นเจ้าของความคิดของเขา ฉะนั้นบทความ บทความแล้ว บทความเล่า มันก็จะค่อย ๆ หลั่งไหลมาจากต่างประเทศ บอกว่าอนาคตข้างหน้าการพัฒนานั้น ต้องมาจากการพัฒนาภายใน จากประชาชน โดยที่รัฐบาลนั้นเป็นตัวกระแสหลักที่เชื่อมโยงประสาน จริง ๆ ประเทศไทยนั้นมันก็เริ่มมีสิ่งเหล่านี้มานานแล้ว ก็โดยพวกท่านนั่นแหละ แต่สิ่งเหล่านี้นั้นจะทำให้มันเข็งแกร่งมาได้ยังไง โดยเฉพาะทางเศรษฐกิจ เราสร้างความตื่นตัว เราพยายามบอกให้ประชาชนมัธยัสถ์ ให้รู้จักสำนึกในเรื่องของเศรษฐกิจพอเพียง ทำยังไงเราจะยกระดับสิ่งเหล่านี้ขึ้นไปเรื่อย ๆ ผมเคยเล่าให้ท่านผู้นำฟังว่า ผมไปเที่ยวเขาค้อ นั่งรถจากเขาค้อกลับมากรุงเทพฯ 4 ชม. ไม่รู้จะจอดแวะพักตรงไหน มีเพียงแค่ไก่ย่างวิเชียรบุรีให้ผมนั่งกินไก่ย่าง ทำไมไม่สามารถมีจุดพักซึ่งสามารถเอาสินค้าจากชุมชนท้องถิ่น ทำให้มันดี พัฒนามาให้มันดี เจรจาหาสถานที่ ปั๊ม ปตท. หรืออะไรก็ได้ ขายสิ่งเหล่านี้ ต่อยอด o-top ที่เคยทำค้างไว้ เมื่อหลายปีที่แล้ว ทำให้มันดี ในญี่ปุ่น ทุกที่ที่เราไป มีทั้งสินค้าชุมชน มีทั้งแหล่งท่องเที่ยว ผ่านมา 4 จังหวัด มันจะไม่มีแหล่งท่องเที่ยวให้เราไปท่องเที่ยวบ้างเลยหรอ ให้คนเขารู้ว่าเรามีของดี สิ่งเหล่านี้ทำได้แน่นอน ทำไม o-top เราทำได้ แต่ทำไมเราไม่สามารถสานต่อมันได้ เพราะอะไร ? เพราะระยะแรกแห่งกระบวนการพัฒนานั้นมันทำง่าย แต่การต่อยอดให้มันดี แข่งขันได้ในโลกยุคใหม่นั้นมันทำยากขึ้น หมายความว่าถ้าพลังประชาชนนั้นต้องการพัฒนาเศรษฐกิจจากท้องถิ่นควรจะต้องเปิดรับวิทยาการใหม่ ๆ ความคิดใหม่ ๆ เปิดรับคนจากภายนอก เปิดรับคนจากภาคธุรกิจ เปิดรับคนจากมหาวิทยาลัยที่จะมาช่วยคุณทำในสิ่งเหล่านี้ ผมเพิ่งไปเที่ยวที่หัวหินมา ผมเห็นผลิตภัณฑ์จากชุมชนที่เขาส่งไปขายที่ญี่ปุ่นเป็นผลิตภัณฑ์ที่ดีมาก ว่านหางจรเข้ ทำตั้งแต่ว่านที่ทาผิว ทำไปถึงว่านที่รับประทานแทนวุ้น สามารถทานแล้วลดเบาหวานได้ ส่งไปขายญี่ปุ่น แต่ไม่ขายตามร้านทั่วไป ตลอดทางจากเขาค้อมากรุงเทพฯ ผมซื้อได้แค่มะขามเพชรบูรณ์ ทำไมเราไม่สามารถทำมะขามเพชรบูรณ์ ไปสู่ผลิตภัณฑ์สปา ที่ผู้หญิงสมัยนี้ทั่วโลกเอาไว้ขัดผิวล่ะ สิ่งเหล่านี้สะท้อนว่าขีดขั้นความสามารถที่จะพัฒนาผลิตภัณ์ท้องถิ่นนั้นมีจำกัด เราจะต้องเปิดผ่านตรงนี้ให้ได้ด้วยการเชื่อมต่อจากคนนอก บริหารจัดการให้มันดี การเท่องเที่ยวที่จะสามารถดึงคนเข้ามาในท้องถิ่น เข้ามาซื้อผลิตภัณฑ์ในท้องถิ่นทำไมจะทำไม่ได้ ประเทศเรามีที่ที่มันสวยงามทุกแห่งเลย ทำไมเราคิดดีกว่านั้นไม่ได้ ในทางสังคมมันมีประโยคนึงดีมากเลยจากในหนังสือเล่มหนึ่ง เขียนโดยคุณเจฟเฟอรี่ แซ็กซ์ เป็นอาจารย์จากมหาวิทยาลัยดังต่างชาติ เขาบอกว่าสังคมทุกวันนี้ ภาษาอังกฤษเรียกว่า distract เป็นสังคมซึ่ง ทำให้หลงทาง หลงทางโดยข้อมูลข่าวสาร ทำให้หลงทางโดยการบิดเบือน การปลุกปั่น เขาบอกว่าการพัฒนาสังคมให้เข้มแข็งนั้นให้กลับไปดูคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า แปลกไหมครับ ? อาจารย์ฝรั่ง อ้างอิงพระพุทธเจ้า เขาบอกว่าสิ่งซึ่งท้องถิ่นต้องสร้างขึ้นมาคือการสร้างสังคมที่มีสติ มีสติต่อชีวิตตนเองว่าจะดำเนินอย่างไร? มีสติต่อครอบครัวว่าจะสร้างครอบครัวที่แข็งแรงอย่างไร? มีสติต่อชุมชนว่าจะสร้างชุมชนที่เกื้อกูลกันอย่างไร ? มีสติต่ออนาคตว่าเราจะทำยังไงที่จะไม่ไปผลาญทรัพยากรธรรมชาติของคนรุ่นหลังมาใช้ในรุ่นนี้ และมีสติต่อการเมืองว่าจะทำอย่างไรให้การเมืองของประเทศนั้นดีขึ้น คำพูดของเขาแค่นี้มันชัดเจนแล้วว่าสังคมไทย นอกเหนือจากการที่ทำให้ประชาชน อยากเป็นดารา อยากดัง ดังนั้นเราควรจะทำอะไรกันบ้าง?

 ในทางการเมืองสิ่งสำคัญมาก ๆ เลยในการพัฒนาประเทศ คือการที่ภาคพลเมืองนั้นรู้จักหน้าที่ ว่าหน้าที่การเมืองนั้นเป็นหน้าที่ของพลเมือง ไม่ใช่ว่าฉันไม่ชอบการเมือง ฉันไม่เกี่ยวข้อง ถ้าไม่อย่างนั้นการเมืองก็จะถูกกินรวบผูกขาด แต่มันเป็นหน้าที่พื้นฐานของเราเลยว่าเมื่อเราสร้างการเมืองขึ้นมาแล้วเราจะทำยังไงให้การเมืองมันดี เราจะทำการเมืองให้ดีได้อย่างไร ? 1.โดยการเริ่มเข้าไปมีส่วนร่วมในการเมืองท้องถิ่น สร้างจิตสำนึกทางการเมือง สร้างความรับผิดชอบในการเมือง ให้ความรู้กับประชาชนในท้องถิ่นว่าอะไรดี อะไรไม่ดี ในทางกลับกัน เวลาที่เราแต่งตั้งข้าราชการท้องถิ่นเข้าไป นักการเมืองเข้าไป พลังชุมชนนี้แหละที่จะคอยเฝ้าระวังว่าใครทุจริต คอรัปชั่น ส่งเสียงขึ้นมาจนกระทั่งเขาไม่สามารถทำได้ ใครทำคราวหน้าไม่ได้รับการเลือกตั้งเข้ามาใหม่  ในระดับชาติ การรวมตัวอย่างเข้มแข็งจะนำพาไปสู่การริเริ่มนโยบายดี ๆ ที่มาเชื่อมต่อและสนับสนุนการเมืองท้องถิ่น ถ้าคุณไม่เชื่อมต่อ คุณก็จะได้นโยบายเลว ๆ เพราะเขาไม่ร็ว่าท้องถิ่นต้องการอะไร หรือรู้ แต่ไม่สนใจ

 คุณมองไปที่ประเทศเกาหลีใต้ เขาพัฒนาวันนี้เขาเป็น 1 ใน 15ประเทศยักษ์ใหญ่ของโลก ไม่ใช่เพียงเฉพาะว่า ผู้นำเขาเก่ง รัฐบาลเขาเก่ง ท่านทราบไหมว่าพลังประชาชนของเขาเนี่ยถึงขนาดที่ว่า ต่อต้านคอรัปชั่น แนะนำนโยบายดี ๆ แก่บ้านเมือง กำจัดนักการเมืองทุจริต การเลือกตั้งปี 2000 และ 2014 เขาลิสรายชื่อออกมาเป็นร้อยคน ว่าคนเหล่านี้ไม่ควรมาเป็น สส. เพราะมีทุจริต คอรัปชั่น พลออกมาปรากฏว่าสอบตกเกิน 70% ในเมื่อเขาเคลียร์ทางอย่างนี้ จะบอกว่าเขา ก้าวก่ายทางการเมืองหรือเปล่า ? ไม่เลย เขาทำการเมืองให้ดี โดยเกราะของพลเมืองนี่แหละเป็นตัวที่สร้างมันขึ้นมา  เพราะทุกอย่างที่มันมีปัญหาทั้งหมด สุดท้ายแล้วมันมาอยู่ที่ตรงนี้นี่แหละ

คุณดูประเทศฟิลิปปินส์ เพราะการเมืองเขาไม่ดี บ้านเมืองเขาถึงชอกช้ำอยู่ทุกวันนี้ ไม่มีใครอยากไปฟิลิปปินส์ หลับตานึกภาพฟิลิปปินส์แล้วนึกถึงความรุนแรง นึกถึงคอรัปชั่น แต่คุณรู้ไหมว่า ตอนนี้ประเทศเขาเริ่มดีขึ้น ผมคุยกับประทานเจโช เมืองไทย ทำการสำรวจนักธุรกิจญี่ปุ่นทั้งประเทศ เขาบอกว่าในขณะนี้ในกลุ่มประเทศอาเซียน มีมีกลุ่มประเทศ VIP เวียดนาม อินโดนีเซีย และ ฟิลิปปินส์ พลังประชาชนของฟิลิปปินส์นั้น สามารถรวมตัวกันจัดโครงสร้างพลังนี้ขึ้นมา ต่อต้านคอรัปชั่น เข้าไปมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายท้องถิ่น มีส่วนร่วมในการพลักดันต่อต้านผู้นำการเมืองซึ่งใช้ไม่ได้ วันนี้ประเทศของเขาเริ่มเงยหัวขึ้นมาแล้ว ในขณะที่ประเทศของเรากำลังเริ่ม……. (เมื่อกี้ผมไม่อยากเอ่ยเสียงนะครับ)

ไปดูอินโดนีเซีย ทำไมรัฐมนตรีคลังในอดีตของเขาสามารถล้างคอรัปชั่น สามารถปฏิรูปการคลังของเขา วันนี้อินโดนีเซียเป็น 1 ในยักษ์ใหญ่ชองเอเชีย ก็เพราะการรวมตัวกันของพลังประชาชน นี่คือคำตอบว่า พลังพลเมืองนี่แหละ คือพลังที่แท้จริง

ไขปัญหาของพลเมือง ในการพัฒนาประเทศ

      มีคนศึกษาว่าปัญหาของการรวมตัวประเทศไทยอยู่ที่ตรงไหน? เขาบอกว่าประเทศไทยปัญหาใหญ่คือ ปัจเจกบุคคล การรวมตัวนั้นรวมตัวได้ในระดับหนึ่งและบางครั้งผิวเผิน เพราะคนไทยส่วนใหญ่นั้นสนใจเรื่องเฉพาะตัว อาจจะเป็นเพราะว่า เมืองไทยนั้นสบายมานาน ไม่เคยลำบาก ไม่เคยต่อสู้   สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่ปัญหาเพราะว่า ผมเรียนท่านตั้งแต่ต้นว่าผมมาวันนี้เพราะอยากจะมา และอยากจะพูดในส่งเหล่านี้ เพราะความเพียรพยายามของประธานจัดงานนี้ผมเห็นแล้วผมก็ประทับใจ พวกท่านเป็นระดับผู้บริหารในชุมชนท้องถิ่นทั้งสิ้น มันเป็นโอกาสที่ดีมากๆ ที่ท่านเอง ต้องทำตัวเองให้เป็น change agent ที่มีพลัง ในการเปลี่ยนแปลงสังคมนั้น คำว่า change agent มีความสำคัญมาก change agent นั้นเป็นตัวแปลงที่จะไปเปลี่ยนแปลงให้สังคมนั้นดีขึ้น มีคนเขากล่าวกันว่า ถ้าคุณเอาผู้ชายมาคนนึง ฝึกฝนเขาทำให้เขามีความสามารถ อย่างมากที่สุดคือคุณสามารถสร้างคนได้แค่คนเดียว แต่ถ้าคุณเอาผู้หญิงมาคนนึง ฝึกฝนเขา ก็เสมือนหนึ่งคุณกำลังฝึกฝนคนทั้งครอบครัว เพราะแม่บ้านนั้น คุมทั้งสามี คุมทั้งลูก แต่ถ้าคุณอบรมฝึกฝนผู้นำแห่งการเปลี่ยนแปลง คุณสามารถเปลี่ยนแปลงทั้งหมู่บ้าน ทั้งตำบล ทั้งประเทศได้

ผมเชื่อว่าการที่ทำให้สำเร็จนั้น มีเงื่อนไข 3 ข้อ

 ข้อที่ 1. ความสามารถ เราต้องกล้าประเมินตนเองว่าเราในฐานะผู้นำท้องถิ่นเนี่ย ความสามารถถึงหรือยัง ? ถ้ายังพัฒนาตัวเอง เปิดโลก อบรม ไปดูว่าชาวบ้านต่างประเทศเขาทำกันอย่างไร การเรียนรู้ไม่ใช่สิ่งที่น่าอาย เอาความรู้เหล่านั้นมาดูว่านำกลับมาใช้ในเมืองไทยได้อย่างไร ผมจะพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวในจังหวัดผมได้อย่างไร ทำอย่างไรผมจึงจะมีสถานีชุมชนอยู่ริมทาง คนผ่านไปผ่านมาต้องแวะซื้อสินค้าจากชุมชนนี้ ทำอย่างไรผมจะเจรจาต่อรองกับท้องถิ่น ทำการผลิตให้มีสิ่งที่ดี ๆ ขึ้นมา เอากูรูมาจากข้างนอกมาทำกัน

ข้อที่ 2. การสร้างเครือข่าย โยงใย ความสัมพันธ์ ยิ่งสร้างเครือข่ายได้ใหญ่เท่าไหร่ คุณจะมีพลังจากภายนอกมาช่วยคุณมากเท่านั้น สิ่งที่น่าแปลกใจมาก ผมไปอยู่ในเอกชน เขาอยากจะทำให้ชุมชน แต่เขาไม่รู้จะทำกับใคร สุดท้ายเขาต้องทำเอง   ผมไปอยู่ในมหาวิยาลัย เช่น คณะพัฒนาสังคม เกี่ยวข้องโดยตรงกับการทำสิ่งเหล่านี้ แต่อาจารย์ของมหาวิทลัยไม่รู้ว่าจะต้องทำงานอะไร คอตก จิตตก ไม่มีนักศึกษาเข้ามาเรียน ถ้าเรารู้จักสร้างเครือข่ายกับมหาวิทยาลัย กับเอกชน กับราชการ ทำไมสิ่งเหล่านี้มันจะเกิดขึ้นไม่ได้

ข้อที่ 3. คือยุทธศาสตร์ในการเอ็นเกรช หมายความว่าจะทำอะไรในแต่ละเรื่อง ๆ ในทางเศรษฐกิจ ในทางสังคม ในทางการเมือง ผมอ่านข้อความของพวกท่านที่จัดงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งตำบลสุขสันต์…….อะไรนี่แหละ  สภาวะ  ผมชอบนะ จุดเริ่มต้นมันเริ่มที่ชุมชนเข้มแข็ง จุดที่สองคือการสร้างปฏิญญา จุดที่สามคือการให้ตื่นตัวในเรื่องของพลเมือง ว่าคุณมีหน้าที่นะ แต่การสร้างการตื่นตัวนั้นมันต้องนำไปสู่จุดของการรวมตัว สร้างเป็นประชาสังคมที่เข้มแข็ง ฉะนั้น การบริหารจัดการ การสร้างผู้นำในอนาคต สิ่งเหล่านี้เป็นหัวใจจริง ๆ ถ้าบริหารจัดการไม่ดีพลังก็อ่อนเปลี้ย จิตสำนึกแม้จะมี แต่รวมกันไม่ติด

ฉะนั้นนี่แหละคือสิ่งที่ผมตั้งใจมาวันนี้และมาบอกพวกท่านว่า สิ่งที่ท่านทำเนี่ยถูกต้อง แต่จะทำยังไงให้มีพลังขึ้นมา ศักยภาพของผู้นำชุมชน จะสร้างมันขึ้นมาได้อย่างไร การบริหารจัดการให้มันแตกตัว ให้มันมีการกระจาย ภาษาอังกฤษเรียกว่า diffusion of innovation หมายความว่า คุณจะมีทางให้ท้องถิ่นอื่นๆ นั้น ได้เข้าใจ ได้เห็นแบบ ได้ลอกเลียน ออกไปทำตาม ได้อย่างไร สิ่งเหล่านี้ สื่อสมัยใหม่ Social Media มันช่วยท่านได้อยู่แล้ว อยู่ที่ว่าท่านจะทำอย่างไรเท่านั้นเอง